วันนี้ (15 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sarinee Khammuangmool ได้เผยแพร่เรื่องราวประสบการณ์ของคุณแม่เรา #ที่ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครคนไทยที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุภัยพิบัติในเมืองนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่คุณแม่มาเล่าให้ฟัง เราจึงได้เรียบเรียงและแชร์วิธีการทำงานของอาสาสมัครในเขต จ.นากาโนะ อำเภอซาคุ ประเทศญี่ปุ่น
หวังว่า เรื่องราวนี้บางส่วนจะสามารถใช้แนวทางเมื่อเกิดภัยพิบัติสำหรับประเทศไทย และคนไทยที่ต้อง การร่วมเป็นอาสาสมัครในต่างแดน จากเหตุการณ์พายุฮากิบิส นากาโนะ เป็นเขตเตือนภัยระดับ 5 โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตในเขต จ.นากาโนะ อำเภอซาคุ 1 คน
เหตุการณ์พายุฮากิบิสเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี หลังจากเกิดภัยพิบัติ ช่วงคืนวันที่ 12-13 ต.ค. เขต จ.นากาโนะ อำเภอซาคุ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยท่านนายอำเภอ เขตอำเภอซาคุ ได้โพสต์ลง twitter ประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ประกาศในเพจ ของอำเภอ เพื่อขออาสาสมัครมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้อาสาสมัครมารวมตัวกันในสถานที่ ที่เรียกว่า “โนคาว่าไคกัง”
ภาพ: เฟซบุ๊ก Sarinee Khammuangmool
ในวันนี้เอง วันที่ 14 ต.ค. เวลา 9.00 น.มีอาสาสมัครเข้าร่วม 300-500 คน แทบทั้งหมดเป็นชาวญี่ปุ่น มีต่างชาติ 1 คน คือคุณแม่เรา ซึ่งเป็นคนไทย ที่ทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นมานาน เป็นล่ามภาษาไทยที่ทำงานที่สำนักงานอำเภอซาคุ ท่านรู้และเข้าใจเพราะท่านได้ร่วมช่วยเหลืองานร่วมกับภาครัฐเอกชน ของญี่ปุ่นมาตลอด เผื่อใครมีโอกาสได้มาเป็นจิตอาสาที่นี่ หรือหากประเทศไทยเราเกิดจะได้เตรียมความพร้อมไว้
ในการเป็นจิตอาสาผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องเตรียมตัว
- ใส่เสื้อผ้าที่สามารถเปื้อนได้
- น้ำและอาหารกลางวันต้องจัดเตรียมไปเอง
- รองเท้า(กันน้ำ) หมวก ถุงมือ ให้เตรียมไปเองทั้งหมด
- อุปกรณ์ที่ใช้เคลียพื้นที่ เช่น พลั่วตักหิน ที่ตัดกินไม้ ฯลฯ มีอะไรก็ติดเอาไป
ภาพ: เฟซบุ๊ก Sarinee Khammuangmool
เมื่อถึงสถานที่
- ลงทะเบียน ชื่อจริง นามสกุล เพศ ฯลฯ
- เค้าจะถามว่าเรามีความสามารถพิเศษ และต้องการมาช่วยตรงไหนบ้าง เพื่อคัดกรอง แยกไปตามงาน
- ให้อาสาสมัครทุกคน ไปทำประกัน(โฮเกน) เพื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุ โดยส่วนประกันนี้ ทางอำเภอเป็นผู้ดูแลจัดการ
- ทุกคนต้องไปติดป้ายเขียนชื่อ-นามสกุล เป็นภาษาญี่ปุ่น (คาตาคานะ) ติดที่แขนซ้าย
- รอคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ว่าให้เราไปเขตไหน เขตอุทกภัย
- เจ้าหน้าที่ แบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็นกลุ่มๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของอำเภอหนึ่งคนต่อหนึ่งกลุ่ม
ภาพ: เฟซบุ๊ก Sarinee Khammuangmool
หลังจากไปช่วยเสร็จแล้วจะมีสภากาชาดตั้งเต็นท์รออาสาสมัคร
สภากาชาดจัดให้มีการทำความสะอาดร่างกายเบื้องต้นดังนี้
- ล้างเท้า ล้างรองเท้า
- อ่างแรกเป็นอ่างล้างโคลนที่ติดมากับรองเท้า
- อ่างที่สองเป็นอ่างฆ่าเชื้อโรค
- หลังจากนั้นจะมีการพ่นน้ำยาที่มือเพื่อฆ่าเชื้อ
- ใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในตัวเรา
- การทำแบบนี้เพื่อป้องกันเชื้อโรคระบาดที่มากับอุทกภัยเป็นการป้องกันอาสาสมัครที่เข้าร่วมให้ปลอดภัยจากโรคภัยหลังจากปฏิบัติงานเสร็จแล้ว
- หลังจากทำทั้งหมดถึงจะกลับเข้าไปรายงานตัวได้
วัตถุประสงค์ของสิ่งที่เรียบเรียงคือ
- ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นจิตอาสาได้
- เหตุภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น การช่วยเหลือด้วยการเป็นจิตอาสาเราสามารถนำส่วนหนึ่งส่วนใดมาเป็นพื้นฐานการเตรียมตัวได้
- อาสาสมัครนอกจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ยังควรต้องดูแลตนเอง ปฎิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
- การดูแลจากส่วนกลาง เพื่อดูแลอาสาสมัคร เป็นสิ่งที่พึงกระทำ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านข้อความ ในระหว่างที่ทุกท่านกำลังอ่านข้อความนี้ ทางคุณแม่เอง ก็เสร็จสิ้นเรื่องอาสาสมัคร ไปแล้ว แต่ก็ยังช่วยคนไทยที่อยู่ที่นั่น จากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ ประสานงานให้ได้รับการดูแล #คนไทยไม่ทิ้งกัน ยังคงเป็นจริงเสมอ
*คำไหนที่ผิดพลาดขออภัยไว้ณ.ที่นี่ด้วยนะคะ และถ้ามีโอกาสจะมาเล่าสู่ เรื่องการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนให้ได้ทราบ (ในเคสที่คุณแม่อนุญาตค่ะ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมลิงก์ Live Camera เช็กญี่ปุ่นเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง
"ไต้ฝุ่นฮากีบิส" ถล่มญี่ปุ่น คร่า 4 ชีวิต เจ็บกว่า 80 คน