ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้นำฝ่ายค้าน จวกร่างงบฯ 63 แก้เศรษฐกิจชาติไม่ได้

การเมือง
17 ต.ค. 62
12:48
1,794
Logo Thai PBS
ผู้นำฝ่ายค้าน จวกร่างงบฯ 63 แก้เศรษฐกิจชาติไม่ได้
"สมพงษ์" ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายเป็นคนแรก หลังนายกรัฐมนตรี แถลง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 จวกร่างงบฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไม่ได้ เสนอให้กลับไปร่าง พ.ร.บ.งบฯ ใหม่ หวั่น ไทยล้มละลายทางการคลัง

วันนี้ (17 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 12.33 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปิดท้าย การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ว่า ในช่วงการพิจารณางบฯ

ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลดำเนินการได้ มากกว่าว่ากันไปกันมา

จากนั้นขออนุญาตที่ประชุมออกไปพักด้านนอก โดยระบุว่า "ใครจะพูดถึงผมพูดไปเลยนะครับ ขอพักสักครู่

ต่อมาเวลา 12.35 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก โดยระบุว่า ขอให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการพิจารณางบประมาณ เพราะประชาชนกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจยากลำบาก โดยรัฐบาลนี้ยังมีปัญหาด้านความชอบธรรม ตั้งแต่การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ, แถลงนโยบายไม่ระบุแหล่งที่มาของงบฯ 

 ฝ่ายค้านอยากให้รัฐบาลกลับไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ เพราะไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่เหมาะแก้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

ขนาดเศรษฐกิจประเทศวัดด้วย GDP ที่ผ่านมาไทยมี 17 ล้านล้านบาท สิ่งสำคัญคือ "การส่งออก" ที่สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน แต่การส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กลับติดลบ 2.5%

นายสมพงษ์ ระบุอีกว่า ปี 2562 พบว่านักศึกษาที่เรียนจบจากสถาบันต่างๆ ตกงานกว่า 300,000 คน คาดว่าเพิ่มขึ้น 500,000 คนในปีหน้า ซึ่งจะกระทบการลงทุนภาคเอกชน

ขอให้นำ พ.ร.บ.งบประมาณ กลับไปและนำเข้ามาพิจารณาใหม่ เพราะงบฯ ยังมีปัญหาและถูกนำไปใช้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์กว่า 6,000 ล้านบาท ไม่ได้เพิ่มความอยู่ดีกินดีของประเทศ และงบฯ ขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ

5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการปรับเพิ่มอัตราภาษี แต่ก็ยังไม่เพียงพอจนต้องกู้ โดยงบประมาณปี 2561 ที่ สนช.อนุมัติให้รัฐบาล คสช.มีงบขาดดุลถึง 5.5 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับงบขาดดุลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 2 ปีรวมกัน คือ ปี 2556-2557

ประเทศไทยขาดดุลการคลังมาตลอด ตัวเลขขาดดุลงบน่าเป็นห่วง หากไม่สามารถหยุดแนวปฏิบัตินี้ได้ ต่อไปประเทศไทยจะล้มละลายทางการคลัง

นายสมพงษ์ ระบุว่า การแจกเงินโดยไม่ยึดโยงกับการพัฒนาและปรับแผนธุรกิจ เป็นการยืดปัญหาเป็นวันๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การแจกเงินปลายปี, ชิมช้อบใช้ ไม่ได้ทำให้ประเทศพัฒนาการผลิตเลย เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เงินหมดก็คงต้องแจกใหม่ รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจ สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ประเทศ มีการกล่าวในสังคมว่า

งบประมาณถูกใช้อย่างกระจุกตัว สนับสนุนการเติบโตกลุ่มใกล้ชิดรัฐบาล เช่น EEC รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีการเอื้อประโยชน์ เวนคืนที่ดินแถวฉะเชิงเทรา

ที่กล่าวมาเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชน แต่คนเหล่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินเอง แต่เป็นของคนที่มีฐานะทำให้ได้ราคาเพิ่มสูง แต่คนเดือดร้อนกลับเป็นเกษตรกร ภาคใช้จ่ายแห่งรัฐจะมีปัญหา หากวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไม่ถูกต้อง

ผมหมดหวังกับการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้รัฐบาลนำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 กลับไปแก้ไขใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นายกรัฐมนตรี" ชี้แจงความจำเป็นของบฯ 3.2 ล้านล้านบาท

เช็ก! 10 อันดับ จัดสรรงบประมาณปี 2563 ก่อนเข้าสภาฯ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง