ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธปท.เตือนรับมือกำลังซื้อในอนาคตหดตัว

เศรษฐกิจ
17 ต.ค. 62
17:44
702
Logo Thai PBS
ธปท.เตือนรับมือกำลังซื้อในอนาคตหดตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย เตือนธุรกิจอสังหาฯ ปรับตัวรับกำลังซื้อลดลง หลังคนรุ่นใหม่ แบกหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการเติบโตธุรกิจ ปีนี้ ติดลบร้อยละ 5-7 แนะถึงเวลาที่ต้องออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์แล้ว

วันนี้ (17 ต.ค.2562)​ นายวิชัย วิระตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการ ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบกำลังซื้อในประเทศ กระทบการเติบโตในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์  

 

หลังสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า มีหน่วยเหลือขาย มากกว่า 1.52 แสนหน่วย จากจำนวน 1.6 พันโครงการ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.69 แสนล้านบาท

 

โดยเฉพาะ สต็อกโครงการอาคารชุด ซึ่ง เหลือขาย มากที่สุดในรอบ 4  ปี  ส่วนใหญ่เหลือขายในย่าน ห้วยขวาง จตุจักร ดินแดง ขนาด 1 ห้องนอน ในระดับราคา 3-5 ล้่านบาท ขณะที่ อัตราการดูดซับทาวเฮ้าส์ต่อเดือน ลดลงมากที่สุด ติดลบ ร้อยละ1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หลังการบังคับใช้มาตรการกำกับเพดานปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้  ผู้ซื้อบางส่วน ปรับตัวไม่ทัน และนักลงทุนอสังหาฯ หยุดการซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-30 อีกทั้ง ปัญหาเงินบาทแข็ง และ มาตรการควบคุมการโอนเงินออกต่างประเทศของจีน กระทบการเติบโตในอุตสาหกรรม

ซึ่งคาดว่า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัย แนวราบ ทั้งปี ขยายตัวร้อยละ 1.3 ขณะที่ อาคารชุด ทั้งปี อาจ ติดลบร้อยละ 21.1

รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า  สถานการณ์ขณะนี้ ถึงจุดที่รัฐบาล ควรออกมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อแล้ว โดยเฉพาะการนำมาตรการลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อพยุงอุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ หากยังไม่มีความชัดเจนในการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ  ส่งผลให้ แนวโน้มการเติบโตที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ  และปริมณฑล ในปีหน้า ยังมีโอกาสติดลบ ร้อยละ 5-7 จากปกติจะขยายตัวไม่น้อยกว้าร้อยละ 5

สำหรับการลงนามลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ อาจมีส่วนช่วยระบายสต็อกที่อยู่อาศัย ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แต่อาจไม่มีผลต่อการระบายสต็อกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแนวรถไฟฟ้ามากนัก เพราะผู้ซื้อในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ ต้องการความสะดวกในการเดินทางในเมืองมากกว่าเดินทางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในอีอีซี

ขณะที่ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับกลยุทธ์ รองรับภาวะเศรษฐกิจ ที่อาจขยายตัวต่ำเช่นนี้ต่อไป อีกทั้ง กำลังซื้อจากคนซื้อที่อาศัยในอนาคต จะลดลง  เพราะ คนทำงานรุ่นใหม่ เป็นหนี้เร็วขึ้น และมากขึ้น โดยอาจออกแบบที่อยู่อาศัยรองรับสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น

 

พร้อมระบุว่า  สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ที่ปรากฎขณะนี้ เป็นเพียงภาพสะท้อนหนี้ในระบบสถาบันการเงิน ร้อยละ 40  ไม่รวมหนี้สินนอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติ จึงจำเป็นต้องออกมาตรการกำกับดูแล ทั้ง LTV และความร่วมมือปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง