ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ณัฏฐพล" รับจัดงบฯ ศธ.ยังไม่เหมาะสม

การเมือง
18 ต.ค. 62
12:24
2,380
Logo Thai PBS
"ณัฏฐพล" รับจัดงบฯ ศธ.ยังไม่เหมาะสม
"ชวน หลีกภัย" เปิดประชุมสภาฯ ให้ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล อภิปรายร่างงบฯ 63 เป็นวันที่ 2 ด้าน "รมว.ศึกษาธิการ" ลุกขึ้นแจง รับจัดงบฯ ศธ.ไม่เหมาะสม จ่อเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กหลังไม่ขยับมา 5 ปี มั่นใจปีหน้าทำงบฯ อย่างเหมาะสม

วันนี้ (18 ต.ค.2562) ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เป็นวันที่ 2 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท หลังสั่งพักการประชุมไป เมื่อเวลา 01.30 น. ที่ผ่านมา 

ก่อนเปิดให้มีการอภิปราย ประธานสภาฯ มีการแจ้งเรื่องการรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) หรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ นายนวัธ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งวินิจฉัย

จากนั้นจึงเปิดให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล อภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณฯ 

 

โดยในวันนี้ เวลา 09.10 น. นายไชยา พรหมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย เริ่มอภิปรายเป็นคนแรก ระบุว่า ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งการส่งออก 70% ต่อ GDP 30 ล้านตันข้าวเปลือก 18 ล้านตันข้าวสาร 

เราบริโภคในประเทศแค่ 8 ล้านต้น มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ส่งออก 0% และปีหน้าจะติดลบ นั่นหมายความว่าเงินตราสินค้าจากต่างประเทศมันหายไป ขณะที่รัฐบาลประมาณการว่ารายได้ปีหน้าจะจัดเก็บรายได้เพิ่ม 1.81 แสนล้านบาท

ปีนี้ไม่มีนโยบายเพิ่มแรงงาน ขณะที่ตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย 500,000 คนในปีหน้า มีแนวโน้มจะตกงาน แต่ไม่มีนโยบายรองรับปัญหานี้ เมื่อไม่มีการเพิ่มแรงงาน แสดงว่าไม่มีการลงทุน

หนี้ครัวเรือนประเทศไทยสูงขึ้นแตะ 2 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เหลือเงินลงทุน 20.5% ประมาณ 6.55 แสนล้านบาท แต่มีหนี้ผูกพันที่ต้องจ่ายอีก 10% ทำให้เหลือเงินสุทธิ 3.3 แสนล้านบาทเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องจัดลำดับความสำคัญของประเทศด้วยเงินที่มีจำกัด

การจัดซื้ออาวุธ ถามว่ามันสร้างเงินในภาคธุรกิจ สร้างเงินให้กระเป๋าประชาชนอย่างไร ผมไม่ได้คัดค้านว่าไม่จำเป็น แต่ตอนนี้ประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถ้อย ผู้ประกอบการ ภาคผลิต กำลังป่วย เขาจ้างงาน ลงทุน ประคองธุรกิจมา 5 ปี เพราะรอเศรษฐกิจฟื้นตัว

อย่างน้อยรัฐบาลจัดงบลงทุนภาครัฐ ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว แล้ววันที่เศรษฐกิจดี เขาสามารถจ้างงาน สร้างเงิน ให้มีการใช้จ่ายในระบบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ส่วนเกษตรกร ถ้ารัฐช่วยลงทุน สร้างเมกะโปรเจ็กต์ ทำให้เขาเชื่อมั่น ตลาดเกษตรเพื่อสุขภาพกำลังมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากรัฐบาลสนับสนุนให้เขาทำการเกษตรไร้สารเคมีได้อย่างยั่งยืน เขาก็สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

ต่อจากนั้นเวลา 09.27 น. นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ตามที่รัฐบาลแถลง ได้จัดสรรงบประมาณ 5.7 แสนล้านบาท ถือเป็นลำดับ 2 คิดเป็น 17.8 % รองลงมาจากยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่รัฐบาลให้น้ำหนักมากที่สุด

เมื่อมองควบคู่กันจะพบว่า รัฐบาลทุ่มเงินให้ด้านมุนษย์และสังคมถึง 40% หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์และสังคมมากที่สุด

นายจักรพันธ์ ระบุว่า อยากให้รัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาสุขภาพของเด็ก เช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงปัญหาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ สถิติของ สสส.มีเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้งเกือบ 90,000 คน ศูนย์เด็กเล็ก 20,000 กว่าแห่งได้รับการประเมินเกือบครึ่งอยู่ในระดับพอใช้

สถานการณ์เด็กปฐมวัยในบ้านเราอยู่ในขั้นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยสภาพัฒน์พบว่า เด็กปฐมวัยถึงวัยเรียน 600,000 คนที่อยู่ในบ้านตกเกณฑ์ ควรได้รับพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ยังไม่ครบทั้งประเทศ

นายจักรพันธ์ ระบุอีกว่า อยากฝากถึงรัฐบาลให้ช่วยดูแลและพัฒนา โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ต้องเป็นด้านกายภาพด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นคงและก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อให้เขามีประสิทธิภาพในการดูแลเด็ก เพราะการฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

แนะจัดงบฯ เพิ่ม "ก.วิทย์ฯ-ดิจิทัล" 

เวลา 09.50 น. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณ กระทรวงเก่าแก่อย่างศึกษาธิการ มหาดไทย ยุติธรรม ได้งบฯ 70-80% ส่วนกระกรวงใหม่ๆ อย่างดิจิทัล หรือแม้กระทั่งกระทรวงเกษตร ได้งบเพียง 40% สะท้อนให้เห็นว่าระบบราชการไทยยังคงทำงานแบบเดิมๆ

หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ การจัดสรรงบฯ จะตีบตันมากขึ้น ทำให้งบฯ ที่จะช่วยกระทรวงที่สามารถสร้างสรรสิ่งใหม่ๆ อย่างวิทยาศาสตร์ ดิจิทัล ทำได้ยากขึ้น

ขณะที่กระทรวงกลาโหม มีเด็กมาเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน เวลาที่พ้นเกณฑ์ก็มีการฝึกอาชีพตามหน่วยงานรัฐต่างๆ ถือว่าดีมาก แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเมื่อให้กลับไปแล้ว เขาได้ประกอบอาชีพหรือไม่ ขณะที่เอกชนมีปัญหาด้านบุคลากร

อยากเห็นกระทรวงกลาโหมดูแลทหารเกณฑ์ ซึ่งเป็นคน 1 ใน 3 ของประเทศ สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างแท้จริง 

 

แนะนำงบฯกลาง ยกระดับการศึกษา

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ เวลา 10.22 น. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.อนาคตใหม่ ลุกขึ้นอภิปรายถึงภาพรวมงบประมาณการศึกษา เป็นรองเพียงงบกลาง โดยงบประมาณลดลงเล็กน้อย คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายโอนภารกิจไปยังกระทรวงอุมศึกษาฯ เมื่อไล่เรียงดูการกระจายของงบฯ พบว่ามีการลงทุนกับเด็กเพียง 6% และมีการให้งบประมาณกับการเรียนรู้ของเด็กน้อยมาก หากเทียบเงิน 100 บาท มีเงิน 1 สลึงเป็นแผนเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยตรงของนักเรียน

รัฐบาลกำลังใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีการสร้างภาระงานครู ใช้งบฯ พัฒนาครูนอกห้องเรียน 3,500 ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการพัฒนาผู้เรียน

ขณะที่งบประมาณด้านการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล หาไม่พบในการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาประสิทธิภาพครู เพราะพบเพียงค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ายานพาหนะเท่านั้น งบฯ อุดหนุนของเด็กไทยคงที่มาตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 แม้ดัชนีราคาสินค้าบริโภคเพิ่มสูงขึ้น 12% ของปัจจุบัน นอกจากนี้การอุดหนุนเด็กโรงเรียนวิทย์ รัฐอุดหนุน 450,000 บาทต่อคน ซึ่งเปรียบได้กับราคารถอีโค่คาร์

ขณะที่เด็กโรงเรียนขนาดกลาง ได้เงินอุดหนุน 300,000 ต่อเด็ก 134 คน ซึ่งเทียบได้กับข้าวสารครึ่งกระสอบโดยประมาณต่อคน แม้ประเทศไทยจะสนับสนุนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แต่ก็ควรอุดหนุนเด็กทุกคนให้ได้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน

ทำไมหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาสาธารณูปโภคไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลทำ แล้วทำให้มีมาตรฐานเท่ากันหมดทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันยังมีโรงเรียนหลายแห่งต้องเปิดรับบริจาค เพื่อปรับปรุงและสร้างห้องน้ำเอง

 

น.ส.กุลธิดา ระบุว่า คุณภาพทางการศึกษานั้น พบว่าคะแนน O-NET ของเด็กไทย เด็กสอบตกครึ่งประเทศเกือบทุกวิชา โดยกรุงเทพฯ คะแนนสูงกว่าภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ PISA 2558 ประเทศไทยคะแนนลดลงทุกวิชา

สิ่งที่คาดหวังคือ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้คุณภาพการศึกษาไทยเพิ่มขึ้นได้ แต่กลับได้งบฯ ลดลง ตั้งแต่ปีที่ คสช.มาเป็นผู้นำประเทศ เห็นได้ชัดว่าเงินที่ใช้สนับสนุนด้านการศึกษาลดน้อยลงต่อเนื่อง บางคนอาจบอกว่าเพราะเด็กลดลง แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับยิ่งเพิ่มงบฯ แม้เด็กลดลง

ขอเสนอหน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนำงบกลาง 3 หมื่นล้านบาทมาใช้ เพิ่มงบฯ โรงเรียนขนาดเล็ก-กลาง 10,000 โรง ควรได้รับเงินสนับสนุน 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มงบทุนอาชีวะขึ้น 1 หมื่นล้านบาท และอุดหนุนรายหัวประถมศึกษาอีกหัวละ 1 ล้านบาท

หากนำเงินที่ไม่เกิดประโยชน์ 3,500 ล้านบาท มาใช้ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะช่วยเหลือเด็กที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบได้ 150,000 คน

 

จ่อเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็ก 

ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงต่อการอภิปรายการจัดสรรงบประมาณของสมาชิกสภาในงบกระทรวงศึกษาการ ว่า ในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา ผมทราบถึงปัญหางบประมาณที่ไม่เหมาะสม แต่ผมไม่สามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณได้ เนื่องจากระยะเวลาสั้น และไม่เข้าใจระบบงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง

ส่วนเรื่องโครงการต่างๆ เกี่ยวกับ ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก อบรม สัมมนา หากติดตามข่าว  หากติดตามข่าว ผมได้ลดโครงการเหล่านี้ไปแล้วและกำชับให้ทุกหน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นายณัฎฐพล ระบุต่อว่า ส่วนปัญหาเรื่องอาหารกลางวัน ยอมรับว่า ไม่ได้มีการเพิ่ม มา 5 ปี แล้ว อยู่ที่ 20 บาท แต่ที่เสนอมา 30 บาท กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถให้ 30 บาททั้งประเทศได้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กอาจต้องให้มากกว่านั้น จึงต้องขอเวลาปรับเปลี่ยนและศึกษาต่อไป

ปี 2564 ผมมั่นใจว่าจะทำงบประมาณที่เหมาะสมกับการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ทั้งครูและนักเรียนได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็ก! เสียงในสภาฯ ก่อนโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63

"ชวน" ติง ส.ส.รับผิดชอบ "เก็บขยะ" ทิ้งนอกห้องประชุมรัฐสภา

ฝ่ายค้านพอใจภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง