วันนี้ (21 ต.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า หลังจากกรมป่าไม้ ได้ปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ให้สามารถทำไม้หวงห้ามในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิของตัวเองได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน และจะส่งเสริมให้ปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินของตัวเอง ซึ่งหลังจากปลดล็อกมาระยะหนึ่ง เริ่มพบปัญหาวัดหลายแห่ง ขอตัดไม้หวงห้าม เช่น ต้นยางนา ต้นสัก ที่ปลูกไว้มีอายุมากแล้ว นำออกขาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมากกว่าต้นไม้หวงห้ามจะโตอายุเป็น 100 ปี
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาที่เริ่มเจอ ทางวัดขอทำไม้ออก เพราะอ้างว่าอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งทำได้แต่บางแห่งกรรมการ และชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้เห็นด้วยกับทางวัดที่จะทำไม้ออกขายเชิงพานิชย์โดยไม่จำเป็น ทั้งที่ปลูกไม้หวงห้ามคู่กับวัดมา ตอนนี้เริ่มมีการร้องเรียนเข้ามาที่กรมป่าไม้หลายแห่ง เช่น ที่พระนครศรีอยุธยา และนครนายก
ภาพ: เฟซบุ๊ก Darunee Preeprem
ทำหนังสือพศ.ช่วยทำความเข้าใจวัดทั่วประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเป็นห่วงในเรื่องนี้ ทั้งในส่วนของที่ดินกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านที่ถูกนำไปหาประโยชน์เอาไม้จากป่ามาสวมขอตัดออก ส่วนกรณีของวัดที่ปลูกไม้หวงห้ามเอง ตามหลักการไม่ควรตัดไม้ออก และได้พูดคุยกับผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อให้ทำความเข้าใจททางวัดที่มีป่าปลูก และเป็นไม้หวงห้ามที่ควรอนุรักษ์เก็บไว้ ไม่ใช่ตัดออกขายทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แทนที่ต้นไม้อายุ 100 ปีจะถูกเก็บรักษาและเป็นปอดของพื้นที่ แต่บางแห่งก็ตัดและเกิดปัญหาขึ้น เพราะบางแห่งวัดจะตัด แต่กรรมการ ชาวบ้านยอม แต่บางแห่งวัดไม่ยอม เป็นต้น
ขณะนี้ได้พูดคุยเบื้องต้นกับทางผอ.พศ.เพื่อขอให้ทำความเข้าใจกับวัดทั่วประเทศ ถึงวัตถุประสงค์ในการอนุญาตทำไม้ออกตามมาตรา 7 ตามความจำเป็นของวัด โดยพศ.จะทำหนังสือเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพ.ร.บ.ป่าไม้ ปลดล็อกปลูกไม้หวงห้าม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดชุดพยัคฆ์ไพร ได้รับการร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ก สอบถามกรณีมีบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับวัดได้ทำการล้มต้นตะเคียน และต้นยางอายุนับร้อยปีหลายต้น บางต้นก็ล้มและแปรรูปไปแล้วด้วย โดยทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเลย และเจ้าอาวาสก็ได้พยายามห้ามแล้ว แต่พวกนี้ก็ยังฝ่าฝืนทำโดยพลการ เนื่องจากเป็นพวกมีอิทธิพลแถวนั้น ซึ่งชาวบ้านและเจ้าอาวาสก็ทราบกันดีว่าเป็นใคร อยากสอบถามผู้รู้ว่า ควรทำอย่างไรคะ?ต้องแจ้งหน่วยงานไหน ? โดยกรมป่าไม้ ส่งชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที
ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า การตัดไม้ในเขตวัดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ป่าไม้ ทำได้ แต่ไม่อยากให้มองความจำเป็นที่จะตัดไม้ เพื่อการค้า เพราะไม้มีค่าควรอยู่คู่กับวัด ต้องอนุรักษ์ ซึ่งจะลงไปติดตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพราะตอนนี้ไม่ใช่ว่าวัดเองอยากตัด แต่ยังมีการซ่อนเร้นจากกลุ่มตัดไม้ที่อาศัยช่องทางนี้ไปแสวงหาประโยชน์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลดล็อก ม.7 พ่นพิษ "ทสจ."เอี่ยวแก๊งตัดยางนาสวมส่งขายจีน