ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัญญาณเตือน "เด็กติดเกม" แนะรักษาก่อนสาย

สังคม
21 ต.ค. 62
12:49
88,583
Logo Thai PBS
สัญญาณเตือน "เด็กติดเกม" แนะรักษาก่อนสาย
จิตแพทย์เด็ก เตือนผู้แม่ผู้ปกครองสังเกตสัญญาณเสี่ยงลูกติดเกม หากพบความผิดปกติเล่นเกมติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อดหลับอดนอน กระทบชีวิตประจำวัน และมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว เมื่อต้องหยุดเล่นเกม แนะปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

จากกรณี เด็กคนหนึ่งทุบคอมพิวเตอร์ด้วยอาการอารมณ์เสีย แล้วหยิบมีดเดินเข้าหาครอบครัวหลังเล่นเกมแพ้ ก่อนที่สื่อสังคมออนไลน์จะมีการส่งต่อคลิปวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวและวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (21 ต.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศ “โรคติดเกม” (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก

หลังประเทศไทยมีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว พบว่า ตัวเลขของเด็กติดเกมที่เข้ารับคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งการจะประกาศให้ E-sport เป็นกีฬานั้น ประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อมและมีมาตรการที่ชัดเจนมากกว่านี้ อย่างต่างประเทศมีการบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องลงทะเบียนก่อนเล่นเกม และไม่ให้มีการแข่งขันเกมภายในโรงเรียน รวมถึงมีการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือภายในโรงเรียน

ต้นเหตุสำคัญอีกอย่างของโรคติดเกมนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ และผู้ปกครอง ที่มองว่าเด็กอยู่กับเครื่องมือไอที และเด็กเล่นอยู่ในสายตา แล้วรู้สึกว่าไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมจนกลายเป็นการเสพติดกลับยิ่งทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะและส่งผลต่อสุขภาพ 


สำหรับข้อสังเกตว่าเด็กติดเกมหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้จาก 3 ข้อ ได้แก่

  1. เด็กเล่นเกมหลายชั่วโมงติดต่อกัน
  2. สูญเสียการควบคุมตนเอง ไม่ทำการบ้าน ไม่ไปโรงเรียน
  3. สูญเสียการควบคุมชีวิตตัวเอง เช่น ไม่กินข้าว อดหลับอดนอน

หากเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลกระทบตามมาให้ได้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านการกระทำของเด็ก คือ เด็กเริ่มใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว เด็กเริ่มพูดโกหก และสุดท้ายเด็กเริ่มขโมยเงิน เพื่อนำไปใช้ซื้อของในเกมหรือนำไปเล่นเกม 

ส่วนเด็กที่แกล้งเด็กคนอื่นในเกมนั้น ก็น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน เพราะทุกคนที่มีพฤติกรรมเสพติดเกมนั้นน่าสงสาร และควรรักษาให้เร็วที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรป้องกันไม่ให้เด็กติดเกมมากกว่ามารักษาในภายหลัง

3 ต้อง 3 ไม่ ช่วยเด็กไม่ติดเกม

3 ต้อง

  1. ต้องควบคุมเวลาให้เล่นเกมอย่างเหมาะสม
    เด็กประถมศึกษา ควรเล่นวันละ 1 ชั่วโมง
    เด็กมัธยมศึกษา ควรเล่นวันละ 1 ชั่วโมง
    ส่วนเด็กเล็กพ่อแม่ไม่ควรให้เล่น
  2. ต้องเลือกเกมที่ไม่มีความรุนแรง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะทางความคิด
  3. ต้องเล่นด้วย พ่อแม่และผู้ปกครองควรแบ่งเวลาเล่นเกมกับลูก เพื่อให้ทราบว่าลูกกำลังเล่นเกมอะไรอยู่

3 ไม่

  1. ไม่เล่นในห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัว อาจกระทบกับการใช้ชีวิตและอดหลับอดนอน
  2. ไม่เล่นตอนทำกิจกรรมในครอบครัว เช่น เล่นตอนรับประทานอาหารร่วมกัน
  3. ไม่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก หรือเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์ตลอดเวลา

ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีอาการติดเกมควรเร่งให้เด็กเข้ารับการปรึกษา โดยปัจจุบันโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศมีการให้บริการจิตแพทย์เด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต หรือสามารถโทรปรึกษา สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต

เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่พาลูกเข้าโรงพยาบาลเพราะติดเกม

สอดคล้องกับ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ที่ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับเด็กติดเกม ซึ่งได้หยิบยกกรณีตัวอย่างจากละครดังอย่างวัยแสบสาแหรกขาด 2 โดยระบุว่า 

เหมือนลูกไม่ใช่ตัวเขา ผมไม่เคยเห็นเขาเป็นแบบนี้มาก่อนเลย เสียงดังพูดจาหยาบคาย พูดกับผมเหมือนคนไม่รู้จัก แล้วก็แรงเยอะมาก ไม่รู้แรงมาจากไหน ตาขวางๆ แต่พอกลับไปเล่นเกมก็กลับไปเหมือนปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

พ่ออย่างเขาซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ไม่เคยคิดว่าการที่ลูกเล่นเกมจะมีปัญหาตรงไหน จนกระทั่งถูกบุ๊คชกเอาที่หน้านั่นแหละ จากวันหนึ่งที่เขาเห็นว่าบุ๊คเล่นเกมนานไปจนไม่ยอมทานข้าว เพราะห่วงว่าลูกจะหิว บวกด้วยความไม่พอใจลูกที่เล่นเกมจนไม่สนใจอะไร เขาจึงตวาดบุ๊คเสียงดัง และดึงปลั๊กออกเพื่อปิดคอมพิวเตอร์ของลูก เขารู้ดีว่าที่ผ่านมาไม่เคยบังคับลูกแบบนี้มาก่อน เขาเป็นพ่อที่ยอมให้ลูกชายตลอด แต่ก็ไม่คิดว่าบุ๊คจะโกรธจนชกเขาจนเลือดออก

การที่ได้เห็นลูกชายควบคุมความโกรธไม่ได้ ชกหน้าอย่างแรง กำมือแน่น ตัวสั่น พร้อมรีบคว้าปลั๊กไปเสียบใหม่ และเปิดเกมด้วยความร้อนรน หลังจากนั้นก็เล่นเกมต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ต้องยอมรับว่า การที่ลูกเล่นเกมจนกลายมาเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่ความปกติเสียแล้ว...

เรื่องของบุ๊คอยู่ในละครวัยแสบสาแหรกขาด 2 หลายคนถามหมอว่า การที่เด็กเล่นเกม มันรุนแรงกระทั่งต้องพาไปเข้าโรงพยาบาลเลยหรือ มันเว่อร์เกินไปไหม หมออยากบอกว่า ไม่ได้เว่อร์เกินไป ในชีวิตจริงที่ทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีเคสติดเกมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ และบางเคสต้องมาบำบัดในโรงพยาบาล

ตามตัวเลขที่กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเปิดเผย ตัวเลขเด็กและวัยรุ่นไทยที่มีภาวะติดเกมในระดับที่ปานกลางและรุนแรงจนต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนว่าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัวในรอบสามปี หมอไม่ได้บอกว่าตัวเกมไม่ดี หรือห้ามใครไม่ให้เล่นเกมนะคะ แต่สิ่งที่ไม่ดีคือ 'การเล่นจนเสพติด' หรือที่เรียกว่า addiction นั้นมีอยู่จริง คือเด็กและวัยรุ่นที่เล่นเกมจนไม่เป็นอันทำอะไรและเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนอื่น


ยกตัวอย่างจริง เคยมีกรณีของเด็กติดเกมคนหนึ่ง เดิมเป็นเด็กที่เรียนเก่ง เชื่อฟังพ่อแม่ดีมาก แต่เมื่อได้ไปเล่นเกมออนไลน์จนเสพติด การเรียนตกลง ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น จนวันหนึ่งเด็กต้องมาโรงพยาบาลเพราะพ่อแม่ไม่ยอมให้เล่นเกม เด็กจึงหนีออกจากบ้านไปเล่นเกมที่ร้าน และปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะกระโดดหนีออกจากหน้าต่างตกลงมาบาดเจ็บ

หมอคิดว่าในยุคสมัยนี้พ่อแม่คงห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมไม่ได้ แต่ต้องระวังการเล่นจนขาดสติ โดยพ่อแม่ควรจะเข้าใจถึงที่มาที่ไปและสาเหตุของอาการติดเกม และควรจะทราบเกี่ยวกับสัญญาณเตือนการติดเกมของเด็ก เพื่อที่เราจะได้ใช้สังเกตเด็กๆ ที่ดูแล และมีวิธีจัดการและป้องกันเพื่อให้ลูกเล่นเกมโดยที่ไม่ติดเกม

สัญญาณที่เป็นตัวบอกว่า อาจจะติดเกมแล้ว ได้แก่

  • หมกมุ่นกับการเล่นเกมมาก เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับเกม ไม่สนใจหรือเลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบอื่นๆ
  • ควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดไม่ได้ ใช้เวลาในการเล่นเกมนานติดต่อกันหลายๆชั่วโมง หรือเล่นนานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน
  • ถ้าถูกบังคับให้เลิกเล่น จะต่อต้าน หงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าวเวลาไม่ได้เล่นเกม
  • เล่นเกมจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อดนอน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา มีการละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบหรือกิจวัตรประจำวัน เช่น ไม่สนใจการเรียน หนีเรียนหรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม การเรียนตก ไม่เข้าสังคม เสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ฯลฯ
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว พูดจาหยาบคาย โกหก ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) ฯลฯ

ความสัมพันธ์ในครอบครัว "ยาชั้นดี" ป้องกันเด็กติดเกม

ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเกม สาเหตุที่มักจะพบก็คือ ปัญหาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ตามใจหรือใจอ่อน ขาดการควบคุมเรื่องระเบียบวินัย บางครั้งพ่อแม่ใช้เกมเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลเด็ก เพราะคิดว่าให้เด็กเล่นเกมก็สบายดี อย่างน้อยก็ไม่ไปซนนอกบ้าน ตรงนี้ถ้าพ่อแม่สามารถให้ระเบียบวินัยที่ชัดเจน มีข้อตกลงชัดเจนก่อนที่จะให้เด็กเล่นเกม เด็กก็สามารถควบคุมตัวเองได้ ตรงนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่

ที่พบบ่อยมากๆ ในครอบครัวของเด็กติดเกมก็คือ 'ปัญหาสัมพันธภาพที่ไม่ค่อยดีระหว่างเด็กและพ่อแม่' เช่น ความห่างเหิน ไม่มีเวลาให้ มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย คุยกันไม่เข้าใจ เด็กมีความเครียด จึงหาทางออกด้วยการไปเล่นเกม เมื่อสัมพันธภาพไม่ดี เวลาพ่อแม่จะแนะนำตักเตือนเด็กเรื่องเล่นเกม เด็กก็มักจะไม่ค่อยฟัง มีแนวโน้มต่อต้าน 

 
หากสงสัยว่าลูกอาจจะติดเกมควรจะจัดการแก้ไขโดยเร็วพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในกรณีที่มีอาการติดเกมรุนแรง การบำบัดรักษาในโรงพยาบาลในรูปแบบของ Digital detoxification คือการแยกเด็กให้ออกห่างจากเกม จนกระทั่งเด็กหายจากอาการถอนเกม เช่น อาการทางจิตใจ อารมณ์ ที่ผิดปกติ เช่น หงุดหงิด โวยวาย ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น การรักษาจริงจังมีความจำเป็น และต้องดูว่ามีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า บางครั้งอาจจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาร่วมด้วย

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเด็กติดเกมให้ดีขึ้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนและปรับกันทั้งคู่ ทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้างที่บ้านและที่โรงเรียน ปัญหาต่างๆ น่าจะเริ่มต้นแก้ไขด้วย ‘ความเข้าใจร่วมกัน' ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราที่อยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในการที่พ่อแม่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมของลูกๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง