ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปลดล็อก EIA เขื่อนริมตลิ่ง สู่จดหมายถึง"อนุพงษ์" ปมแก้กัดเซาะ

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 62
12:56
3,200
Logo Thai PBS
ปลดล็อก EIA เขื่อนริมตลิ่ง สู่จดหมายถึง"อนุพงษ์" ปมแก้กัดเซาะ
นักวิชาการ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง มท.1 เร่งทบทวนงบแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยขาดข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้าน พบโครง การผุดหลายแห่ง แต่ยิ่งทำชายฝั่งยิ่งพัง แต่ท้องถิ่นอ้างเป็นความต้องการของชาวบ้าน ตั้งข้อสังเกตเหตุไม่เข้าข่ายต้องทำอีไอเอ

จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกเรื่องการก่อสร้างกำแพง และกองหินริมฝั่งทะเลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  

วันนี้ (24 ต.ค.2562) นายศักดิ์อนันต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กล่าสุด ระบุว่า อยากให้มีการฟ้องศาลในสถานที่อื่นๆ ด้วยมีตัวอย่างมากมายครับ ทั้งนี้มีการยกตัวอย่างกรณีหาดชลาทัศน์ จ.สงขลาที่พบว่าตลอด 15 ปี ที่ผ่านมาหาดชลาทัศน์ เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งต้นตอของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งชลาทัศน์ คือการสร้างบ่อสูบน้ำเสียรุกล้ำพื้นที่หาดทรายในช่วงปี 2545 ทำมีการกัดเซาะถนนชลาทัศน์ เเละมีการวางโครงสร้างต่างๆเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสืบเนื่องมา เเต่ความพยายามเหล่านั้นไม่เป็นผล และยิ่งกลับทำให้ชายหาดชลาทัศน์พังทลายต่อเนื่อง

ยกเว้นทำอีไอเอ-โครงการผุดพรึบ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ระบุว่า การที่ทำหนังสือเปิดผนึกครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เบรกโครงการในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่กัดเซาะที่มีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่ และมีผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ในบางแห่งที่ผุดขึ้นโดยเกินความจำเป็นจะยิ่งเพิ่มปัญหากัดเซาะในจุดอื่นๆ ยิ่งกำแพงกั้นคลื่นยิ่งทำยิ่งพัง และเป็นการถมงบลงทะเล

มีโครงการมากขึ้นทุกๆปี เพราะมีการปลดล็อกอีไอเอในโครงการเขื่อนริมตลิ่งทั้งหมดที่มีความยาวไม่เกิน 200 เมตรที่ยกเลิกไปในปี 2556 ซึ่งจากการลงพื้นที่ชายหาดบางแห่งมีป้ายปักเตรียมโครงการ บางแห่งกำลังถมดินแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2556 

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

 

10 ปีเจอปัญหายิ่งถมหาดยิ่งพัง

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องทำจดหมายเปิดผนึก เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เคยนำเสนอข้อมูล และชี้ให้ถึงปัญหาการทำกำแพงกันคลื่น เขื่อนหินทิ้ง แต่ไม่เห็นผลในเชิงประจักษ์ว่าจะมีการทบทวน หรือมีมาตรการอื่นๆ กระทั่งมีส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.กระบี่ มาอภิปรายเรื่องการใช้งบประมาณเพิ่มเติมและพล.อ.อนุพงษ์ มาตอบคำถามในสภาฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าท่านตอบคำถามจากข้อมูลที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำมาให้ว่ามาจากความต้องการของประชาชนท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขให้ แสดงว่ายังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน

การทำโครงการโดยผู้ที่ไม่มีไม่รู้จักทะเล ไม่รู้จักคลื่นขาดข้อมูลทางวิชาการ ทำให้หลายแห่งยิ่งทำยิ่งพังเพราะไม่ทำรูปแบบโครงการที่เหมาะสม ทั้งที่มีมติครม.16 ม.ค.2561 ในเรื่องนี้แล้วแบ่งเป็น 3 ระดับสีขาว สีเขียวและเทา แต่แทบทุกโครงการใส่งบ และเลือกที่จะทำโครงสร้างแข็งทันที 

นักวิชาการ ระบุว่าหลังจากทำจดหมายเปิดผนึกไปแล้วขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากต้องการให้นำเสนอข้อมูลและข้อกังวลของกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงสร้างแข็งที่ผุดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุดที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โครงการอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการในอดีต เช่น หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา และอื่นๆเราพร้อมจะให้ข้อมูล 

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

จดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.อนุพงษ์

สำหรับหนังสือระบุว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในสภาว่าจะตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการถมหินสร้าง กำแพงริมฝั่งทะเลนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ผมเชื่อในความตั้งใจดีของท่าน ผมเห็นความตั้งใจของท่านที่ ทำงานเพื่อชาติเสมอมา ผมในฐานะอาจารย์ที่สอนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นคณะอนุกรรมการด้านบริหาร จัดการทรัพยากรทางทะเล และอนุกรรมการด้านบูรณาการการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามคำสั่ง คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ต้องการสะท้อน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด

ในคราวที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.เพชรบุรี โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมจัดนิทรรศการแสดงสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผมได้มีโอกาสเล่าให้ท่านฟังถึงปัญหาของการ ก่อสร้างกำแพงและกองหินริมทะเล ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝังต่อเนื่องไปอย่างไม่รู้จบ ผมยกตัวอย่างให้ท่านเห็น มีตัวอย่างมากมายทั่วประเทศ

และท่านกล่าวว่าท่านเริ่มเข้าใจปัญหาแล้ว แต่ต้องการทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาผมเสนอให้ท่าน ทราบว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองที่ท่านกำกับดูแลอยู่ มี 2 ส่วนสำคัญ คือ ฝ่ายโยธาธิการและฝ่ายผังเมือง ท่านสามารถเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เพราะท่านมีฝ่ายผังเมือง ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การผังเมือง และพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่จะกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ชายทะเล กำหนดเขตถอยร่น กำหนดห้ามสิ่งก่อสร้างบริเวณริมฝั่งทะเลที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

เฟซบุ๊ก :sakanan plathong

 

หนุนทบทวนใช้งบกำแพงกันคลื่น-ไร้ข้อมูลวิชาการ

ถ้าท่านมอบหมายงานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำผังเมือง ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองงบแผ่นดิน ผมได้เสนอว่าท่านต้องเลิกมอบหมายให้ฝ่ายโยธาธิการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานใน ท้องถิ่นทุกระดับที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นกันไปแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลตามลำพัง เพราะกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งส่วนกลาง จังหวัดและองค์กรปกครอง ท้องถิ่นไม่มีความรู้เรื่องทะเล ไม่มีนักวิชาการที่รู้เรื่องทะเล จึงไม่ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่ไม่มีความรู้เรื่องทะเลไปแก้ปัญหาทะเลโดยปราศจากการปรึกษาหารือกับนักวิชาการที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล

วันนั้น เมื่อท่านพอจะเริ่มเข้าใจปัญหาจากการสร้างกำแพงริมฝั่งทะเล ท่านได้มอบหมายให้ผู้ติดตามที่ เป็นผู้ตรวจฯ ช่วยรวบรวมข้อมูลรายงานท่าน ผมไม่ทราบว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ท่านได้รับรายงานกลับมาอย่างไร จึงทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานระดับจังหวัด และท้องถิ่นยังคงของบประมาณสร้าง กำแพงและกองหินริมทะเลต่อไป โดยไม่มีใครยับยั้งได้

แม้จะมีมติครม.ออกมาเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ให้ใช้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กรมโยธิการและผังเมือง จังหวัด และท้องถิ่น ยังอ้างความต้องการของประชาชน เพื่อจะขอใช้งบประมาณไปก่อ สร้างกำแพง ถมหินริมทะเลต่อไป โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ

ด้วยข้ออ้างเดียว คือเป็นความต้องการของประชาชน ทั้งๆ ที่ท่านสามารถใช้ อำนาจตามกฎหมายของสำนักผังเมือง กำหนดแนวถอยร่น ห้ามก่อสร้างใดๆ บริเวณริมฝั่งทะเลที่จะสร้าง ปัญหา หรืออาจได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง

 

ท่านกล่าวในที่ประชุมสภาว่า หน่วยงานของท่านบอกว่า ไม่มีทางอื่น นอกจากการสร้างกำแพง กับถม หินริมทะเล ซึ่งความจริงยังมีวิธีการที่ดีกว่า ที่นักวิชาการเสนอไว้แล้วหลายวิธี ตามแนวทางของมติครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ผมไม่ได้ห้ามปกป้องบ้านเรือนประชาชน แต่ผมขอให้หยุดในบริเวณที่ไม่มีบ้านเรือน ให้ทะเลปรับสมดุลใหม่ ร่วมกับวิธีการที่ช่วยสลายพลังงานคลื่น แล้วการกัดเซาะชายฝั่งจะหยุดแต่ตรงนั้น ซึ่งจะเว้าเข้ามาเป็นอ่าวเล็ก ๆ ที่ยังคงใช้ประโยชน์หาดทรายได้ และจะไม่สร้างผลกระต่อพื้นที่ชายหาดถัดไป

งบประมาณที่กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งงบจังหวัด งบท้องถิ่น ที่ใช้ไปสร้างกำแพงถมหิน มากพอจะเวนคืนที่ดินที่ไม่มีบ้านเรือนได้ และยิ่งบริเวณไหนเป็นที่บุกรุก ที่สาธารณะ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในการดูแล ของกระทรวงท่าน ยิ่งง่ายมากที่จะหยุด ท่านสามารถหยุดโครงการทำลายชายฝั่งเหล่านี้ได้ เพียงแต่ท่านจะมีกระบวนการทางวิชาการเข้ามา กลั่นกรองข้อมูลก่อนการขออนุมัติงบประมาณ

แนะฟังข้อมูลทางวิชาการรอบด้าน 

นอกจากนี้ ตามที่เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับท่านและประชาชนเสมอ มาว่าเป็นปัญหาของนักวิชาการที่เห็นไม่ตรงกัน ผมขอเรียนให้ทราบว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีความเห็นทางวิชาการไม่ตรงกัน แต่เป็นการประมวลข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางวิชาการ โดยเฉพาะกระบวนการชายฝั่งด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อมาแย้งกับหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องทะเลอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ที่มาขัดแย้งกับนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศ เป็นข้อมูลที่ทำออกมาให้เห็นว่า ประเทศไทย ต้องใช้งบประมาณมหาศาลไปถมหิน สร้างกำแพงอย่างไม่รู้จบ สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และ เป็นการทำลายชายฝั่งอย่างถาวรจนยากจะแก้ไขได้

ดังนั้น หากข้อมูลจากนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศคงไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้ ผม ยินดีไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และแนวทางการแก้ไขที่จะไม่ สร้างปัญหาต่อเนื่อง 

 

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง