ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แอมเนสตี้ ร้อง UNSC ส่งปมทารุณพลเรือนรัฐฉานสู่ศาลอาญาโลก

ต่างประเทศ
25 ต.ค. 62
06:46
5,365
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ ร้อง UNSC ส่งปมทารุณพลเรือนรัฐฉานสู่ศาลอาญาโลก
แอมเนสตี้ เปิดเผยรายงานใหม่พบกลุ่มกำลังติดอาวุธทั้งฝ่ายกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ยังปฏิบัติการที่รุนแรงและคุกคามพลเรือนทางตอนเหนือของรัฐฉาน พร้อมเรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เร่งส่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ

วันที่ 24 ต.ค.2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานใหม่ “ลูกไก่ในกำมือ : การปฏิบัติมิชอบต่อพลเรือนท่ามกลางสงครามความขัดแย้งในตอนเหนือของรัฐฉานของเมียนมา (Caught in the middle”: Abuses against civilians amid conflict in Myanmar’s northern Shan State) เปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติที่โหดร้าย กรณีที่พลเรือนถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ และถูกทรมานโดยทหาร ทั้งยังเน้นให้เห็นยุทธวิธีอย่างมิชอบที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ใช้เพื่อตอบโต้กองทัพเมียนมา โดยต่างฝ่ายต่างแย่งชิงอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่นี้

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า กองทัพเมียนมายังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามต่อพลเรือนทางตอนเหนือของรัฐฉาน เจ้าหน้าที่ทหารโดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชา ต่างกดดันให้พลเรือนต้องตกเป็นเหยื่อของความทารุณโหดร้ายโดยไม่มีการรับผิดแต่อย่างใด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเก็บข้อมูลอาชญากรรมสงคราม และการละเมิดของทหารต่อพลเรือนชาวคะฉิ่น ลีซู ฉาน และดาระอั้ง ระหว่างการทำวิจัยภาคสนาม 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและสิงหาคม 2562 พบว่า พลเรือนซึ่งให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ทหารจากกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดที่เกิดขึ้นหลายครั้ง

ก่อนหน้านี้กำลังทหารภายใต้กองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 ปฏิบัติการอย่างทารุณโหดร้ายสุดต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 รวมทั้งได้ก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดที่รุนแรงอีกหลายครั้งในตอนเหนือของเมียนมาช่วงปี 2559 และต้นปี 2560


ไม่ว่ามีการส่งกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 ไปประจำที่ใด เราจะเห็นแบบแผนการปฏิบัติมิชอบที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้น เป็นการก่ออาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว

ร้องกดดันกองทัพเมียนมารับผิดชอบ

นิโคลัส กล่าวว่าประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกดดันให้กองทัพเมียนมา หรือนายทหารระดับสูงต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะการละเมิดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภายหลังกองทัพประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ซึ่งต่อมามีการยกเลิกการประกาศหยุดยิงไป โดยในเดือนธันวาคม 2561 ได้มีการต่อสู้ที่รุนแรงเกิดขึ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเพื่อตอบโต้การลักลอบขนยาเสพติด แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชี้ว่าเป็นผลมาจากปฏิบัติการโจมตีทางทหาร ทำให้เกิดรายงานข้อมูลการละเมิดครั้งใหม่ ในเวลาเดียวกันกระบวนการสันติภาพหยุดชะงักลงไปในระหว่างที่ทุกฝ่ายเตรียมตัวลงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563

 

 

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บังคับใช้แรงงานพลเรือน

ด้านกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยังจับตัวพลเรือนมาเป็นแรงงานบังคับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถเก็บข้อมูลหลายกรณีที่พลเรือนถูกบังคับให้ทำงานเป็นลูกหาบ แบกหามสัมภาระของทหาร และนำทางไปยังหมู่บ้านอื่นในระหว่างที่มีสงคราม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตพวกเขา พลเรือนยังให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มักรีดไถอาหารและเงินไปจากพวกเขา ขู่ว่าถ้าใครไม่ยอมให้ก็จะถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง



กลุ่มติดอาวุธเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบที่โหดร้ายต่อพลเรือน ทั้งการลักพาตัว การจับชาวบ้านมาเป็นแรงงานบังคับและการทุบตี เราขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ยุติการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือน


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทุกฝ่ายให้เคารพกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ให้คุ้มครองพลเรือน และประกันให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต้องยุติปฏิบัติการที่รุนแรงและคุกคามต่อพลเรือน และให้ดำเนินการทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัย ซึ่งผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม ควรถูกนำตัวมาลงโทษ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงระดับสูงอย่างพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา รวมทั้งทหารและผู้บังคับบัญชาของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่ควรเข้ารับการสอบสวนและต้องรับผิดต่ออาชญากรรมสงครามเช่นกัน

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่างเพิกเฉยมานานแล้ว ในขณะที่พลเรือนถูกทอดทิ้งให้อยู่ท่ามกลางวงจรความรุนแรงที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถึงเวลาต้องยุติการเตะถ่วงและต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเร็วที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง