วันนี้ (26 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ ยูเอสทีอาร์ ประกาศว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ จีเอสพีแบบชั่วคราว กับสินค้าไทย 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลบังคับใช้ 25 เม.ย.2563 เนื่องจากไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าจากสหรัฐฯ จะเป็นไปทิศทางการค้าระหว่างประเทศตามปกติ แต่การอ้างเหตุผล เกี่ยวกับการพัฒนาสิทธิของแรงงาน อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากไทยเพิ่งได้รับการปรับชั้นประเทศที่มีสถานะการค้าแรงงานมนุษย์ดีขึ้น จากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2
ขณะที่สหภาพยุโรป ที่ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย เมื่อปี 2557 เพราะระดับรายได้ประชากรไทยสูงเกินเกณฑ์ประเทศที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการตัดสิทธิจีเอสพี อาจเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ใช้ดำเนินการกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ชัดเจนว่า เหตุผลที่ใช้ตัดสิทธิ เป็นผลพวงจากประเด็นการค้า การเมืองเชิงภูมิศาสตร์ หรือแม้กระทั่งกรณีไทย อยู่ระหว่างกระบวนการยกเลิกการนำเข้าเคมีเกษตรร้ายแรงหรือไม่
นายวิศิษฐ์ ระบุอีกว่า ขณะนี้เอกชนกำลังรวบรวมข้อมูลรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบ และสภาพการแข่งขันของกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี เพราะหากไทยและประเทศคู่แข่งถูกตัดสิทธ์จีเอสพีรายการสินค้าเดียวกัน น่าจะไม่กระทบยอดการส่งออกมากนัก ด้านกระทรวงพาณิชย์เตรียมแถลงข่าวปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 ต.ค.นี้
ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุถึงบทบาทและความสัมพันธ์ ทางการเมือง หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยอาหารของสหรัฐฯ และบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรร้ายแรงนั้นมีความเชื่อมโยงกัน และอาจดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในของไทย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ข้ามชาติ จึงขอให้รัฐบาลอย่าอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ และเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคคนไทยเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพี จำนวน 11 กลุ่มสินค้า เมื่อปี 2560 ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 3,400 รายการ มูลค่ากว่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯ ทั้งหมด