ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พณ.ประเมินถูกตัดสิทธิ GSP กระทบส่งออก 0.01%

เศรษฐกิจ
27 ต.ค. 62
19:28
1,306
Logo Thai PBS
พณ.ประเมินถูกตัดสิทธิ GSP กระทบส่งออก 0.01%
รมว.พาณิชย์ ปฏิเสธว่าการที่ไทยถูกตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวกับการแบนสารเคมี โดยสิทธิพิเศษทางภาษีที่ถูกตัดอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท ขณะที่วันนี้ (27 ต.ค.) รมว.แรงงาน เรียกประชุมด่วนหาข้อโต้แย้งและเตรียมชี้แจงกับสถานทูตสหรัฐฯ

วันนี้ (27 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศจะตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) ในสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้สิทธิจีเอสพีเพื่อการส่งออกประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยใช้สิทธิทั้งหมดเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายภาษีเพิ่มร้อยละ 4-5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมีการเพิ่มหรือตัดสิทธิจีเอสพีเป็นระยะ แต่การตัดสิทธิในช่วงนี้เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวขึ้นในไทย และไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยแบน 3 สารเคมีคือ พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเซต

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

 

นายจุรินทร์ ระบุอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกตัดจีเอสพี กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว ทั้งการขอให้สหรัฐฯ ทบทวน และการขยายตลาดส่งออกใน 10 ตลาดใหญ่ อาทิ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ยุโรป

ด้าน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การตัดสิทธิจีเอสพี จำนวน 573 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 2561 จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ประมาณร้อยละ 0.01 เพราะทำให้ต้นทุนส่งออกไทยเพิ่มขึ้นกว่า 50 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 4.5

 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่นๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ เครื่องสูบของเหลว อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช เป็นต้น หากไทยสามารถส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ก็จะลดกระทบลงได้

รมว.แรงงานยืนยันคุ้มครองแรงงานตามหลักสากล

ข้ออ้างหนึ่งของสหรัฐในการตัดสิทธิจีเอสพี คือสิทธิ์แรงงานข้ามชาติในไทยไม่เท่าเทียมแรงงานไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าการคุ้มครองแรงงานยึดตามหลักสากลมาตลอด ขจัดการใช้แรงงานเด็ก แก้ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานประมง

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับปลัดกระทรวงแรงงานและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง กรณีสหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพี โดยอ้างว่าไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลได้

รมว.แรงงาน ระบุว่า เตรียมชี้แจงกับสถานทูตสหรัฐฯ ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการคุ้มครองแรงงานทุกคนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงาน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในปี 2560 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จากระดับเทียร์ 2 ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ มาเป็นเทียร์ 2 และสหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันพิธีสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

 

รวมทั้งยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง เพื่อคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคมและความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ และยังได้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกฎษฎีกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แต่สิ่งที่สหรัฐฯ มองว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือสิทธิของแรงงานข้ามชาติยังไม่เทียบเท่ากับแรงงานไทย

ขณะที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคประมงอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯ ตัด "จีเอสพี" ไทย 573 รายการ มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง