วันนี้ (28 ต.ค.2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเลิกสิทธิปลอดภาษีศุลกากรสินค้าของไทย (GSP) ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี
นายอนุทิน ย้ำว่า การแบนสารเคมีเป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ และมี พ.ร.บ.รองรับไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกรณีสารเคมี 3 ชนิดนี้เท่านั้น และมติของคณะกรรมการฯ ก็ชนะขาดโดยไม่ได้ใช้อารมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับตามกฎหมายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจกระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการที่ลงมติยกเลิกการใช้สารเคมีเนื่องจากคณะกรรมการแต่ละท่านต่างก็มีข้อมูลของตนเองไม่ได้ลงมติตามคำสั่ง และแต่ละท่านมีความคิดเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ยังย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายไม่มีการทบทวนมติแบนสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งได้ตัดสินใจไปแล้ว เนื่องจากอธิบดีทั้ง 3 คนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีมติแบน 3 สารเคมีไปแล้ว เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนว่าสารเคมี 3 ชนิดไม่มีประโยชน์และเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน รวมทั้งเกษตรกร
การตัด GSP เป็นไปตามบริบทอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับทางสหรัฐฯว่าจะให้หรือตัดโดยไม่มีเงื่อนไขหรือผลตอบแทนที่ติดค้างกัน อีกทั้งข้อความที่ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศ ก็แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และหากไทยไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนก็สามารถที่จะโต้แย้งหรือแก้ไขกันต่อไป
นายอนุทิน ยอมรับว่า ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ตัด GSP อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าล้านเหรียญ หรือประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท แต่ไม่ควรตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกจนเกินไป และต้องเชื่อมั่นในสินค้าของไทย และความต้องการของตลาดโลก ทั้งนี้หากกลัวขาดดุลการค้าก็ให้ลดการนำเข้าจากประเทศนั้น ๆ ก็จะไม่เกิดการขาดดุลทางการค้า
ข่าวที่ออกมาเกิดจากผู้เสียหายจากการแบน 3 สาร บิดเบือนข้อมูล ซึ่งไทยจะต้องนิ่งและมั่นใจในสิ่งที่ทำ พร้อมทั้งเดินในเส้นทางของตัวเอง ซึ่งการตัด GSP นั้น ประเทศที่ประกาศตัด GSP ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะประชาชนของประเทศนั้นๆ เพราะไทยส่งออกสินค้าที่ดีไปให้ แต่ทางประเทศที่ซื้อก็ต้องเพิ่มต้นทุนจากการตัด GSP
ส่วนกรณีที่ทางสหรัฐฯ อ้างผลวิจัยขององค์กรด้านสุขภาพ และด้านอาหารว่า สารเคมีที่ไทยประกาศแบนโดยเฉพาะไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้น นายอนุทินย้ำว่า ไม่ได้ห้ามการวิจัยแต่เห็นมากับตาตนเองกรณีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งหรือทำลายผิวหนังจนเห็นกระดูก
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข มีผลของการรักษาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว ซึ่งการที่บางโรงพยาบาลขึ้นป้ายนั้น ไม่ได้รังเกียจสารพิษ แต่ไม่อยากจะรักษาผู้ป่วยจากสารเคมี เนื่องจากทางโรงพยาบาลรับมือผู้ป่วยจากสารพิษไม่ไหว จึงอยากให้หยุดการใช้สารพิษเหล่านี้ เพราะผู้ที่รับเคราะห์คือเกษตรกรและประชาชน
กระทรวงสาธารณสุขคงจะไม่ส่งเรื่องไปชี้แจง เพราะไม่ใช่หน่วยเกี่ยวข้องกับการชี้แจงประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร แต่หากเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและจำเป็นต้องชี้แจงก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงกันต่อไป