เตือนภัย! "พิษเห็บ" เกาะดวงตาจนอักเสบติดเชื้อ

สังคม
30 ต.ค. 62
09:49
5,460
Logo Thai PBS
เตือนภัย! "พิษเห็บ" เกาะดวงตาจนอักเสบติดเชื้อ
นักท่องเที่ยวโพสต์เตือนภัยเจอเห็บซุกใต้เปลือกตา จนบวมเป่งต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 3 วัน โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ระบุเห็บมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้ กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ขณะที่อีกรายเจอเห็บเกาะใบหูนึกว่าไฝ

วันนี้ (30 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเหนาะ เหนาะ โพสต์ภาพและข้อความเตือนภัยจากเห็บ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ขณะที่เดินทางไปทำบุญที่เกาะช้าง ซึ่งที่พักติดภูเขา ฝนตก อากาศชื้น ในวันนั้นจำเป็นต้องพัก เพราะหาที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ตื่นเช้ารู้สึกเจ็บบริเวณหางตาด้านขวา เห็นติ่งดำๆที่ใต้ขนตา จึงไปพบแพทย์

คุณหมอส่องกล้องใช้แหนบคีบออกมาจากใต้ขนตามันคือ เห็บ!! ซึ่งตอนนั้นเจ็บมาก เพราะมันได้ปล่อยพิษของมันออกมา และมีพาหะของเชื้อโรคติดมาด้วย อาการที่พบในคืนต่อมา คือ ตาขวาบวมปิดสนิท ตาแฉะ น้ำตาไหลตลอดเวลา ต่อมน้ำเหลืองโต ทำให้บวมทั้งหน้าจนถึงคอ มีไข้ ตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาด้านในซึ่งเกิดจากการแพ้พิษเห็บ และติดเชื้อแบคทีเรียที่มาจากเห็บ 

จึงขอเตือนเพื่อนๆ ระมัดระวัง เข้าป่าอาจโดนเห็บ หาที่พักที่สะอาด ใครที่ชอบเลี้ยงสุนัข แมว หมั่นดูแลด้วยนะคะ ล่าสุดเจ้าของโพสต์ได้ระบุว่าได้รักษาที่โรงพยาบาลอยู่ 3 วันจากพิษเห็บและยังต้องหยอดตาอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพ:เฟซบุ๊ก เหนาะ เหนาะ

ภาพ:เฟซบุ๊ก เหนาะ เหนาะ

ภาพ:เฟซบุ๊ก เหนาะ เหนาะ

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ผู้ที่เคยเจอเห็บเกาะบริเวณด้านหลังใบหู บอกว่า ไม่รู้ตัวตอนที่ถูกเห็บเกาะ แต่รู้สึกมีอาการคันเล้กน้อย ไม่ได้สนใจ กระทั่งเพื่อนทักว่ามีไฝที่ฟูหรือไม่ พอเปิดออกดูถึงรู้ว่าเป็นเห็บเกาะที่ใบหู 

รู้สึกตกใจ และโชคดีที่ยังไม่ทันเข้าในหู แต่ฝากที่บ้านเลี้ยง แมว และสุนัขต้องหมั่นหยอดยาป้องกันโรคให้เห็บ และอาบน้ำให้สุนัข 

เรื่องไม่ลับของเห็บ 

ข้อมูลจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคเห็บ พร้อมกับยกเคสผู้ป่วยที่โดนเห็บกัด และลักษณะอาการและบาดแผลที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า 

เรื่อง (ไม่ลับ) ของเห็บ

เห็บมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้ กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เห็บกินเลือดของสัตว์พวกสัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร คนก็เป็นเหยื่อของเห็บด้วยเช่นกัน ส่วนมากเห็บที่ กัดคนมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หรือมาจากบริเวณพงหญ้าหรือพุ่มไม้ที่เห็บ หลบอยู่ เมื่อได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกาย เห็บจะกระโดดเกาะ คนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน

ช่วยด้วย! เอาเห็บออกให้ที

วิธีที่ดีที่สุดจะเอาเห็บออกจากผิวหนังคือ การใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ ผิวหนังมากที่สุดแล้วค่อยๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้หรือใช้น้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง สบู่เหลว สารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้ ไม่บิด หรือกระชาก ไม่ควรบีบขยี้หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมา หลังจากเอาเห็บออกแล้ว ควรล้างมือ และผิวหนัง บริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาดถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนังให้ ปล่อย เอาไว้ร่างกายจะพยายามกำจัดออกมาเอง อย่าพยายามแกะ แคะออกจะทำให้ผิวหนัง เป็นเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

เกิดอะไรขึ้นหลังเห็บกัด

คนที่โดนเห็บกัดมักจะไม่เจ็บ ไม่มีอาการ เนื่องจากเห็บปล่อยสารที่ทำให้ชา และทำให้เลือดไม่แข็งตัว ส่วนใหญ่คนที่ถูกเห็บกัดจะสังเกตเห็นเห็บติดอยู่ที่ผิวหนัง ขณะอาบน้ำหรือเกา หลังเห็บหลุด (ทั้งหลุดเองเมื่อดูดเลือดอิ่มหรือจากการดึงออก) อาจเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังเป็นตุ่มแดงคันบริเวณที่ถูกกัด ต่อมาตุ่มอาจใหญ่เป็นปื้น หรือก้อนนูนได้ ตุ่มพวกนี้แหละที่เป็นปัญหาให้มาพบหมอ เพราะคันเหลือเกิน และเป็น ตุ่มอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี

การรักษาตุ่มคันจากเห็บกัด

ถ้าตุ่มอักเสบไม่มาก ใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ลดการอักเสบ ทาสม่ำเสมอ เช้าและเย็นผื่นก็จะดีขึ้น ถ้าอักเสบมาก เรื้อรัง ตุ่มใหญ่เป็นก้อนต้องใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ เฉพาะที่ บางรายอาจต้องตัดตุ่มที่อักเสบออก เพราะมีการอักเสบเรื้อรังไม่หาย จากปฏิกิริยาของร่างกายต่อส่วนปากของเห็บที่ติดอยู่ในผิวหนัง

เห็บนำโรคไหม

ในประเทศไทยไม่พบโรคที่มีเห็บเป็นพาหะ แต่ไรซึ่งมีลักษณะที่มองด้วยตาเปล่า อาจคล้ายเห็บ สามารถเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่หรือ สครับไทฟัส ไม่มียาสำหรับป้องกันการเกิดโรคหลังไรกัด ดังนั้นผู้ที่ถูกไรกัด ควรสังเกต ตัวเองว่าเป็นไข้หลังจากถูกไรกัดหรือไม่ โดยทั่วไประยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ไรกัดจน ถึงไข้ขึ้น) ประมาณ 10-12 วัน

วิธีป้องกันเห็บกัด

ง่ายมากค่ะ อย่าไปเดินในบริเวณที่รกๆ ถ้าจำเป็นต้องไป อาจใช้ยาทาป้อง กันแมลงทาบริเวณแขนขาก่อน เห็บก็จะไม่กล้ำกลายมาใกล้

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง