ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSPสัญญาณเตือนไม่ควรมองข้าม

เศรษฐกิจ
30 ต.ค. 62
16:22
505
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSPสัญญาณเตือนไม่ควรมองข้าม
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK เตือน ผู้ประกอบการไทยเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย แนะวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาวรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประเมินว่า การที่สหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 573 รายการ หรือราวร้อยละ 40 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดของไทยที่ใช้สิทธิ์ GSP ในปี 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เพราะไทยไม่ได้ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

หากพิจารณา พบว่า การตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ โดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากในปี 2561 ไทยใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ เพียง 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกสำคัญของแต่ละหมวดหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สับปะรดกระป๋องในหมวดผัก-ผลไม้กระป๋อง และยางล้อในหมวดผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ในรอบนี้ เพราะทั้งหมดเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ์ GSP ตั้งแต่แรก หรือถูกตัดสิทธิ์ GSP ไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญ 40 อันดับแรกตามพิกัดสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2561) จะพบว่ามีสินค้าเพียง 5 รายการที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ในรอบนี้

 

แต่มีข้อสังเกตว่า การตัดสิทธิ์ GSP ในรอบนี้ จะกระทบกับผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันตามสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และส่วนต่างระหว่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP ดังนี้


• กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น ปูแปรรูป เพราะมีสัดส่วนส่งออกสูงถึงกว่าร้อยละ 20-30 ของมูลค่าส่งออก และมีส่วนต่างภาษีปกติ กับ GSP สูง ร้อยละ 5 ขึ้นไป ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

• กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าที่แม้จะมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูง แต่มีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ อาทิ ผลไม้อื่นๆ กระป๋อง เช่น มะม่วงกระป๋อง 


• กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ คือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ น้อยมาก หรือแทบไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ เลย อาทิ เนื้อปลาโซล (Sole Fish) รถเข็นที่ใช้ในโรงงาน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี และเสื้อกระโปรงชุดสำหรับสตรีและเด็กหญิงที่ทำจากไหม


จะเห็นได้ว่ากฎกติกาและบริบทของตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เงินบาทแข็งค่า การแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบด้านราคาของประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงจาก Globalization มาสู่ Protectionism ซึ่งสะท้อนได้จากการที่หลายประเทศนำมาตรการต่างๆ ทางการค้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การใช้มาตรการ AD และ Safeguard รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง