กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม จางหายไปจากกระแสข่าว หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส หลังกลุ่มผู้เรียกร้องให้ยกเลิกสาดแสงไฟไปที่ชีวภัณฑ์ทดแทน และแนวคิดใช้วัชพืชให้เป็นประโยชน์ ในระหว่างที่มติยังไม่มีผลบังคับใช้ต้องรับฟังความเห็นจนถึง 8 พ.ย. และศาลปกครองรับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไว้พิจารณา
เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เอกสารอ้างกรมควบคุมโรค ร่วมกับ สสส.จัดงานวิชาการเรื่องสารเคมีเกษตรพร้อมข้อความ “ร่วมแสดงความยินดีต่อมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการยกเลิก 3 สารเคมี”
เปิดเผยรายชื่อผู้เคลื่อนไหว รวมถึงรัฐมนตรีเกษตรฯ, อุตสาหกรรม และสาธารณสุข แม้ไร้ชื่อ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” หัวหอกคนสำคัญก็ตาม แต่ต่อมามีข่าวงานถูกยกเลิก เพราะหนึ่งในผู้ถูกอ้างชื่ออย่าง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ปฏิเสธไปร่วมงาน ย้ำด้วยว่าไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แถมยังต้องหาทางแก้ไข
เมื่อ “ยั่งยืน” กับ “ปลอดภัย” เดินบนเส้นทางที่แตกต่าง แนวคิด “เกษตรปลอดภัย” กับหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice, GAP) ใช้สารเคมีได้ แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนดตามหลักสากล เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตเทียบเคียงมาตรฐานคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex), อาเซียน และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และหากรักษามาตรฐานนี้ ก็ค้าขายกับนานาชาติได้
แต่ “เกษตรยั่งยืน” สะท้อนความฝันที่ไกลกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในยุครัฐบาล คสช. จำกัดความเกษตรกรรมที่สมดุลกับระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม ความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาสถาบันด้าน วนเกษตร, เกษตรผสมผสาน, เกษตรทฤษฎีใหม่, เกษตรอินทรีย์, เกษตรธรรมชาติ, ไร่หมุนเวียนแทบกวาดรวมเหมาหมด ขอแค่ไม่มี “เคมี”
ภายในยังบรรจุ “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน” รวมข้าราชการระดับสูงหลายกระทรวงและผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเกษตรยั่งยืน, ทรัพยากรธรรมชาติและงานคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้วยนโยบาย องค์ความรู้ และกองทุน ร่างนี้ยังอยู่ในแผนของกระทรวงเกษตรฯ แม้เคยถูก กพร.ท้วงติงว่าซ้ำซ้อนกับกองนโยบายและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯ
แม้เคยถูกกระทรวงการคลัง คัดค้านว่าอาจสร้างภาระการเงินการคลัง และน่าจะใช้มาตรการส่งเสริมมากกว่า เป้าหมายของ 2 แนวคิด ล้วนหวังได้ผลผลิตคุณภาพ ปลอดภัยทั้งคนปลูกคนกิน แต่ทางเลือกเหมือนถูกบีบให้เหลือแค่ 1 เดียว และก้าวแรกคือการแบนสารเคมีเกษตร ท่ามกลางข้อสังเกต ยกเลิกสารเคมีราคาถูก เพื่อขายของที่แพงกว่า รวมถึงหลับตาหนึ่งข้างให้ชาติมหาอำนาจนำเข้าสินค้าปนเปื้อนเข้ามาได้
จตุรงค์ แสงโชติกุล