วันนี้ (1 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา และดร.จรูญ ด้วงกระยอม ผู้เชี่ยวชาญซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ จำนวน 5 ชิ้น หลังจากมีชาวบ้านในพื้นที่ได้พบซากฟอสซิล บริเวณคลองน้ำบ้านขาคีม หมู่ 2 ต.หลุมข้าว อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ดร.จรูญ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นครั้งนี้มีทั้งสัตว์ที่มีอายุใกล้เคียงกับยุคปัจจุบัน และยุคดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นฟอสซิลแล้ว โดยเฉพาะฟอสซิลที่พบจำนวน 5 ชิ้น เชื่อว่าเป็นกระดูกงาช้างที่มีอายุตั้งแต่แสนปี ถึงหนึ่งล้านปี กระดูกที่พบเป็นงาช้าง สันนิษฐานว่ามีสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น
ที่ผ่านมามีการพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคไทรแอสซิก อายุประมาณ 200 ล้านปี เช่นฟอสซิลหอยกาบคู่น้ำจืดจำนวนมาก โดยได้เก็บไว้ภายในสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2535
ส่วนการค้นพบฟอสซิลชิ้นส่วนงาช้างในครั้งนี้ นับว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จะได้เตรียมกั้นบริเวณที่พบฟอสซิลช้างทั้งหมด เพื่อเตรียมขุดค้นหาชิ้นส่วนช้างและสัตว์ดึกดำบรรพ์เพิ่มอีก
เบื้องต้นคาดอายุเฉียดล้านปี
ต่อมาด้าน ผศ.ดร.ประเทือง ยืนยันว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่เคยระบุว่างาช้างที่เจออยู่ในช่วงของยุคไทรแอสซิก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยเพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะเกิดหลังยุคไดโนเสาร์ และขนาดไดโนเสาร์ที่เจอบนโลกนี้ระดับอายุ 100 ล้านปียังเจอยาก สิ่งที่ไปตรวจสอบ และพูดคุยเพียงแค่บอกว่าเศษชิ้นส่วนที่พบบางชิ้นน่าเป็นสัตว์ในยุคปัจจุบัน และบางชิ้นที่เป็นกึ่งฟอสซิลก็น่าจะไม่เกินช่วงแสนจนถึงล้านปี
ชิ้นส่วนใหญ่ที่เจอ ยังไม่ใช้ฟอสซิลอายุน้อยกว่า 10,000 ปี เช่น ตะพาบน้ำ ส่วนที่เป็นฟอสซิลแล้วเป็นแสนหรือล้านปีเท่านั้นที่มีลักษณะ เช่น งาช้าง เต่า เรื่องนี้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ประเทือง เคยแถลงผลงานวิจัยพบไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอน ในสกุลและชนิดใหม่ของโลกอายุ 115 ล้านปี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาส 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อสกุลคือ สิรินธรน่า โดยเป็นโครงการร่วมไทย-ญี่ปุ่น พบชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรบน-ล่าง ฟัน และอื่นๆ โดยเฉพาะ 19 ชิ้นส่วนที่พบจากกะโหลกและฟัน มีสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด จากชั้นหินกรวดมนปนปูน ในหมวดหินโคกกรวด อายุ 115 ล้านปีก่อน