วันนี้ (4 พ.ย.2562) น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ระบุว่า #บอลโลก2034 #อาเซียนซัมมิท#ASEAN#FIFA หนุนอาเซียน”เจ้าภาพบอลโลก 2034 แม้เส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
หลังจากที่สมาชิกอาเซียนประกาศ จับมือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034 ที่เกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิท ต้องบอกว่าทำให้เดียร์ และเชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายคน ต้องดีใจเป็นพิเศษ เพราะฟุตบอลโลก นอกจากจะเป็นความฝันสูงสุดของวงการฟุตบอลทีมชาติ แต่การจัดงานยังช่วยกระตุ้น ระบบหมุมเวียนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและยาวให้กับประเทศ ยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก แต่เป้าหมายจะไปได้ถึงจริงหรือไม่ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ
1. จากตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับเทียบกับมูลค่าการลงทุน หากเราดูกรณีตัวอย่างเจ้าภาพในรอบ 3 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ทั้งกรณีแอฟริกาใต้ บราซิลและรัสเซีย ต่างล้วนอยู่ในสภาวะที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ทั้ง 3 ประเทศล้วนมีต้นทุนค่าก่อสร้างสนามแข่งขัน และพื้นฐานสาธารณูปโภคอื่นๆที่สูงมาก
โดยเฉพาะหากเราย้อนดูกรณีเมื่อครั้งที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพปี 2006 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกอบโกยรายได้เข้าประเทศเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับบราซิล ที่งบประมาณก่อสร้างบานปลาย มีปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย จนสร้างสนามเสร็จวินาทีสุดท้ายก่อนพิธีเปิด
2. ความเป็นเอกภาพของประเทศในอาเซียน ในการร่วมกันจัดงาน ยกตัวอย่างงานพิธีเปิด-ปิด ของฟุตบอลโลก ที่จะถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เราจะมีมาตรการอย่างไรในการคัดเลือกประเทศที่มีความพร้อมที่สุดในการเป็นเจ้าภาพ
ซึ่งถ้าดูจากความพร้อมสนามปัจจุบันที่ต้องมีจำนวนที่นั่งอย่างน้อย 80,000 ที่นั่งตามข้อกำหนดของฟีฟ่า ก็ดูเหมือนจะมีเฉพาะ 2 ประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะสนามรัชมังคลาฯ ของไทยที่ใหญ่ที่สุดสามารถจุคนได้เพียงประมาณ 49,000 คนเท่านั้น ดังนั้นหากไทยต้องการคว้าพิธีเปิด หรือปิดฟุตบอลโลกมาจัดเองก็ต้องมีการลงทุนสนามแข่งเพิ่มเติม
นับว่ายังมีความท้าทายอีกหลายจุดโดยเฉพาะในการเตรียมทีมชาติเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ หากอาเซียนต้องการเป็นเจ้าภาพจริง การพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลก็คงต้องทุ่มเทความสำคัญนับเป็นวาระหลักของประเทศอีกหนึ่งวาระ
ส่วนจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนก็คงอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะวางแผนควบคุมต้นทุนไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นในกรณีประเทศบราซิล แต่ที่สำคัญแน่ๆคือ การลงทุนครั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือ ความสุขและความภูมิใจของแฟนบอลอาเซียนทุกคน และอีกสิ่งสำคัญนั่นคือความสามัคคีของคนในชาติที่สามารถสร้างได้ด้วยกีฬา