วันนี้ (5 พ.ย.2562) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร เตรียมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติของการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะมีข้อที่เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ในทางปฏิบัติต้องพิจารณาว่าส่วนใดที่ควรจะแก้ไขให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น บางเรื่องเป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว
อดีต กรธ.ยังย้ำให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า การเจตนาการร่างกฎหมายนี้มีที่มาจากอะไร ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ถือเป็นบทเรียบที่ต้องการให้มีบรรทัดฐานการทำงาน บางครั้งคนที่ขึ้นมามีอำนาจแล้วต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางที่อาจมองเพียงมุมตัวเอง ไม่ได้มองมุมอื่น ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และการแก้ไขเพิ่มเติมต้องคิดให้รอบคอบว่า การยอมให้แก้ไขง่าย การให้เสียงข้างมากในสภาฯเท่านั้นอาจเป็นปัญหา และในฐานะผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ติดใจอะไรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการรับรองไว้แล้ว แต่ย้ำให้ดูประเด็นที่จะแก้และเหตุผลที่ชี้แจง
นายอุดม ระบุกรณีที่บางฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากและอาจไปไม่ถึงฝั่งนั้นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นคนละเรื่อง ที่ฟังกระแสแล้วมีความคิดต่าง บางฝ่ายคิดเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงบางปม แต่บางฝ่ายแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สสร.ขึ้นมายกร่างฯฉบับใหม่ กรณีหลังมองว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะเป็นการย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่ สังคมอาจมีปัญหา
และเห็นว่าควรมีเวลาที่บังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสักระยะพอสมควร แต่การแก้ไขประเด็นเล็กน้อยเห็นว่าไม่เป็นประเด็นอะไร แต่หากจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉบับปัจจุบันกว่าจะเสร็จสิ้นผ่านการรณรงค์และสอบถามประชาชนและใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย
นอกจากนี้ อดีต กรธ.ย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กรธ.ไม่ได้คิดจากเพียงคน 20 คน แต่เป็นการรับฟังความเห็นประชาชน และฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์สังคม ที่บางคนใช้มองว่าอาจใช้แล้วมีปัญหา ไม่ได้มองว่าร่างมาดีหรือไม่ดี เพราะยกร่างมาจากฉบับเดิม แม้จะมีความเห็นต่างสำหรับผู้ใช้ ซึ่งทางออกยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตีความ หรือการถกเถียงสำหรับการบังคบใช้