สภาฯ จับมือเพิ่มงบแก้เหลื่อมล้ำ
เกือบ 4 ชั่วโมง ที่ ส.ส.ลุกขึ้นอภิปราย การนำเสนอผลงานประจำปี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2562 ทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยืนยันงบฯที่รัฐจัดสรรให้ กสศ. น้อยกว่าภารกิจอื่นที่รัฐบาลใช้ลดความเหลื่อมล้ำ
นี่คือ ความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่การบริหารกองทุน ควรนำเงินเหล่านั้นมาแบ่งให้กองทุนนี้
นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การตัดงบประมาณ กสศ.ที่ใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ ความเหลื่อมล้ำในการบริหารกองทุนของไทย เพราะหลายกองทุนที่ใช้เงินมหาศาล แต่เกิดประโยชน์น้อย ขณะที่ กสศ. สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้จริง กลับได้รับการจัดสรรน้อยกว่า
นางสาววรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคอนาคตใหม่ ระบุ หากนายกรัฐมนตรีได้ยินเสียงนี้ อยากให้ช่วยจัดสรรงบฯให้เพียงพอตามที่ กองทุน ฯ ต้องการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การบรรลุเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ยังช่วยเติมความฝันให้เด็กไทย เติมความฝันพ่อแม่ พร้อมย้ำ นายกฯ เป็นพ่อน่าจะเข้าใจเรื่องนี้
ขณะที่ นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า กสศ. เป็นหน่วยงานใหม่ เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน แต่การที่รัฐให้งบฯเพิ่มแค่ 1% ถือว่า น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจ เพราะ สพฐ. เองก็ไม่สามารถทำงานครอบคลุมในเรื่องนี้ได้ ด้าน นายกนก วงศ์ตระหง่าน จากพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง ส.ส.ร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ พร้อมเสนอให้ กสศ. กล้าประกาศเสียงดังๆ ว่า “การศึกษาต้องการเปลี่ยนแปลง”
25,000 ล้าน ยังไงก็ให้ไม่ได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การตัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากลายเป็นประเด็นถกเถียงในสภา ฯ ย้อนไปช่วงอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เคยเสนอให้หั่นงบ 3,500 ล้าน จากทั้งหมด 3.68 แสนล้านบาทของกระทรวงศึกษา ฯ ที่ไม่ได้มีประโยชน์โดยตรงกับผู้เรียนไปให้กองทุนนี้
ครั้งนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ตอบโต้ประเด็นนี้ แต่ล่าสุด (6 พ.ย.2562) เขาต้องมาตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรีว่า ทำไม ถึงต้องตัดงบกองทุน ฯ
ครูจุ๊ย ย้อนที่มา ตั้งแต่มีการยกร่างกฎหมายกองทุน ฯ ที่มีข้อเสนอให้รัฐอุดหนุนงบประมาณ ร้อยละ 5 ของงบประมาณการศึกษา หรือ 25,000 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี แต่ถูก สนช.ตัดออก การเสนอของบในปี 2563 กองทุน ฯ เสนอ ครม.ไปกว่า 6,000 ล้านบาท แต่ท้ายสุดก็เหลือแค่ 3,858 ล้านบาท
ทำไม กสศ. จึงไม่ได้งบประมาณตามเป้า เพราะงบประมาณที่ลดลงตั้งแต่ 6,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท จนกระทั่ง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2563 เหลือ 3,800 กว่าล้านบาท
"ผมอยากจัดสรรงบประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปีช่วยเด็กเหล่านี้ แต่ด้วยวินัยทางการเงินการคลัง เราไม่สามารถทำได้ครับ...ปีต่อไปเราก็ไม่สามารถจัดสรร 25,000 ล้านบาทต่อปีได้” นี่คือ คำตอบของเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรี ฯ ขยายความว่า ที่ไม่สามารถจัดสรรงบได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และสพฐ.เองก็มีโครงการและงบประมาณอื่น มาดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยย้ำว่า สามารถทดแทนได้ส่วนหนึ่งแน่นอน
ลืม 5 บาทแรก
"การใช้งบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประมาณร้อยละ 5 ของปีก่อน ไม่ใช่ภาษีบาป หรือ ทางเลือกอื่น ๆ ที่ขัดกับหลักวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้ง มีการกำหนดช่วงเวลาไว้อย่างชัดเจน...เป็นเรื่องสมเหตุผล เป็นการคำนึงถึงสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และเบิกใช้ตามขีดความสามารถในการใช้จ่ายของกองทุนจริง มิใช่การเบิกเงินมากองไว้ที่กองทุน"
นี่คือ 1 ใน 4 เหตุผลหลักที่ปรากฏอยู่ใน ข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุน ฯ เมื่อเดือนเมษายน 2561
คณะกรรมาธิการ ฯ ยืนยันว่า การกำหนดกรอบงบประมาณในวาระเริ่มแรก ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 ปี (มีการปรับลดจาก 5 ปี) จะเป็นผลดีกับการวางแผนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความมั่นใจจากสังคม หากไม่มีการกำหนดกรอบงบประมาณที่ชัดเจน กองทุนอาจจะติดอยู่กับระบบการจัดสรรงบประมาณตามระบบราชการ
ทำให้ กองทุนนี้ขาดความเป็นอิสระ และไม่มีพลังในการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
แต่แนวคิดที่จะเปลี่ยนการจัดสรรงบเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่เป็นโจทย์ท้าย ๆ ของการจัดสรรงบฯด้านการศึกษา ที่เรียกว่า 50 สตางค์สุดท้าย ไปเป็น 5 บาทแรก หรือ ร้อยละ 5 ของงบประมาณด้านการศึกษา ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป และถูกยืนยันจากตัวแทนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า ไม่มีทางเป็นไปได้
หั่น 1,600 ล้านบาท กระทบใคร?
ถึงวันนี้ ยังไม่มีคำอธิบายจากรัฐบาลว่า เหตุใด ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ ปี 2563 ถึงตัดงบฯจากเดิมที่ ครม.เห็นชอบแผนการเงินกองทุน ฯ ไว้เมื่อตอนต้นปี 5,496 ล้านบาท เหลือเพียง 3,858 ล้านบาท ทั้งที่กฎหมายกองทุน มาตรา 6 ก็ระบุไว้ชัดว่า ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
แล้ว 1,600 ล้านที่หายไป กระทบกับใครบ้าง ?
กลุ่มแรกที่จะเจอผลกระทบตรงๆ ในเทอม 2 ทันที และอาจจะต่อเนื่องข้ามไปถึงเทอม 1 ปีการศึกษาหน้า คือ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษประมาณ 8 แสนคนจากทั่วประเทศ ที่ต้องรับทุนต่อเนื่อง โดยกองทุน ฯ ได้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน กลุ่มนี้ใช้งบฯอยู่ที่ 360 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 เด็กอนุบาลยากจนพิเศษ 1.5 แสนคน ที่จะขยายออกไปใหม่เพื่อตอบโจทย์รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เรื่อง การพัฒนาเด็กปฐมวัย และคาดว่า เด็ก ๆ หลายคนเติบโตมาพร้อมกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลุ่มนี้ จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 300 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 เด็กประถมศึกษายากจนพิเศษ ในสังกัด สพฐ.77 จังหวัด จำนวน 5.2 แสนคน ที่ใช้งบประมาณอยู่ราว 786 ล้านบาท
กลุ่มที่ 4 สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ระดับชั้น ม.ต้น ที่มีฐานะยากจนพิเศษประมาณ 25,000 รูป ที่ใช้งบประมาณอยู่ เกือบ 77 ล้านบาท และสุดท้าย คือ กลุ่มครู ที่ต้องดูแลและติดตามนักเรียนทุนเสมอภาค ทั่วประเทศ 2.5 แสนคน ที่ต้องใช้งบประมาณสนับสนุน ราว 64 ล้านบาท
บริจาคช่วยไม่ทัน
งบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้ กองทุน ฯ ใช้วิธีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นไปที่นักเรียนยากจนพิเศษก่อน แต่ถ้าจะให้ได้ถึงระดับ 1,600 ล้านบาท ก็อาจจะระดมเงินบริจาคได้ไม่ทันกับการแก้ปัญหา
ทางออกที่เป็นไปได้ในเวลานี้ คือ การแปรญัตติเพื่อขอเพิ่มงบประมาณ หรือ ใช้วิธีการไปขอจัดสรรจากงบฯกลาง แต่ทั้งสองทางก็ยังไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า จะสามารถนำงบฯที่ถูกตัดไปกว่า 1,600 ล้านมาช่วยเด็กยากจนพิเศษ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้หรือไม่
ข่าวเกี่ยวข้อง
ตัดงบกองทุนเสมอภาค ส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น