วันนี้ (8 พ.ย. 2562) กลุ่มผู้เสียหายที่ร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อต้นไม้กฤษณาตั้งแต่ปี 2555 จากบริษัทแห่งหนึ่ง เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่มาชักชวนระดมทุนว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงประชาชน
หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เมื่อ 7 ปีก่อน พบการเปิดบูธของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำหอม ที่ทำมาจากไม้กฤษณา ในงานแสดงสินค้าที่น่าเชื่อถือต่างๆ
มีการนำแผนการลงทุนมาเสนอ โดยต้องซื้อต้นกล้าไม้กฤษณา มีแพ็กเกจการลงทุนซื้อตั้งแต่ 25 - 400 ต้น ผลตอบแทนร้อยละ 20-45 ต่อปี

อย่างการลงทุนซื้อ 25 ต้น จำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 202,650 บาท ผลตอบแทนทั้งหมด 600,000 บาท เมื่อหักค่าบริหารจัดการ 464,000 บาท ผลกำไรที่ได้ คือ 262,350 บาท ผลกำไรตอบแทนต่อปี ร้อยละ 18.49
โดยพนักงานขายแจ้งว่า ต้นไม้โตแล้ว ปลูกมา 3 ปี ใช้เวลาลงทุนแค่ 4 ปี โดยต้องปลูกในพื้นที่จัดสรรของบริษัท ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลต้นไม้ให้ แต่พอถึงกำหนดกลับไม่ได้รับเงินลงทุนและผลตอบแทนตามที่ทำสัญญาไว้

ผู้เสียหาย เคยไปยื่นเรื่องต่อบริษัท แต่บริษัทชี้แจงว่า ต้นไม้ขนาดไม่เหมาะสมที่จะนำมาแปรรูป สกัดเป็นน้ำหอม จึงขอต่อเวลาไปอีก 3 ปี ทางผู้เสียหายจึงต้องการขายต้นกฤษณาคืนให้ แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธการรับซื้อต้นไม้คืน เนื่องจากอ้างว่าทางบริษัทขาดสภาพคล่อง ผู้เสียหายจึงพบว่าการลงทุนนี้ไม่มีอยู่จริง เป็นการระดมทุน ขณะนี้ผู้เสียหายประมาณ 90 คนจากกว่า 1,000 คน ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ บก.ปอศ. โดยรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 80 ล้านบาท