วันนี้ (10 พ.ย.2562) นางศิลปสวย ระวีแสงสรูย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ 203 คน ประจำจุดเก็บกระทง ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ไปจนถึง วัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา ระยะทาง 34 กิโลเมตร
โดยจะเริ่มจัดเก็บ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป ให้แล้วเสร็จในเวลา 6.00 น. วันที่ 12 พ.ย. จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแยกประเภท และนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ ซึ่งกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือย่อยสลายง่าย จะถูกส่งไปที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำไปฝังกลบ
สถิติในปี 2561 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงได้จำนวน 841,327 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 796,444 ใบ คิดเป็น 94.7% และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 44,883 ใบ คิดเป็น 5.3% โดยจำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ในปี 2561 จำนวน 841,327 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งจัดเก็บได้ 811,945 ใบ เพิ่มขึ้น 3.62% โดยพบว่ามีกระทงวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้เพิ่มขึ้น จาก 93.6% เป็น 94.7% ส่วนกระทงโฟมลดลงจาก 6.4% เป็น 5.3%
ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น จากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง ในพื้นที่ที่มีการลอยกระทงงดใช้กระทงโฟม รวมทั้งรณรงค์ให้ลอยกระทงด้วยกัน ในรูปแบบ 1 ครอบครัว 1 กระทง, 1 คู่รัก 1 กระทง, 1 กลุ่ม 1 กระทง หรือลอยกระทงออนไลน์