วันนี้ (11 พ.ย.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าของนโยบายการปรับลดค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชนผู้ใช้บริการว่า มั่นใจว่าโครงการนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเทศกาลปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้ผู้ใช้บริการ โดยขั้นตอนที่เหลือในขั้นสุดท้าย คือการอนุมัติของบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบอร์ด บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารระบบ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งยังรอการแต่งตั้ง จากบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยชุดใหม่ที่เพิ่งเข้าทำหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ การอนุมัติดำเนินการโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าที่ภาครัฐ มีคู่สัมปทานกับเอกชน คือ รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เข้าร่วมโครงการ ได้สั่งการกำชับหน่วยราชการไปว่า ต้องพิจารณาสัญญาสัมปทานอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้การ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ กลายเป็นปัญหาค่าโง่เหมือนในอดีต
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกในฐานะประธานคณะกรรมการ รฟท. กล่าวว่า บอร์ดการรถไฟฯ จะเร่งรัดการแต่งตั้งบอร์ดของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม
ขณะที่นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวงในฐานะประธานคณะกรรมการ รฟม. กล่าวว่า มั่นใจว่าการปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะแล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการแน่นอน โดยบอร์ดรฟม. ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากครม. จะเร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้ทำหน้าที่ในฐานะ คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ก็ได้ศึกษาในรายละเอียดไว้แล้ว ซึ่งหาก หน่วยปฏิบัติ ในส่วนของรฟม. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ก็เชื่อว่าจะดำเนินการได้เร็ว แต่จะมีการนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุม ของบอร์ด รฟม.ชุดใหม่ ในนัดแรกหรือไม่ จะขอดูวาระการประชุมที่เตรียมไว้อีกครั้ง
สำหรับแนวทางการปรับลดค่าโดยสารที่คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สรุปไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากปกติค่าโดยสารอยู่ที่คนละ 15-45 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 31 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 25-30 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 15-25 บาท/เที่ยว
รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีม่วง จากค่าโดยสารคนละ 14-42 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 21 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 15-20 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 14-25 บาท/เที่ยว
ส่วนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงิน ค่าโดยสารปกติคนละ 16-42 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 25 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 20-25 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 16-30 บาท/เที่ยว
และรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ปกติค่าโดยสารคนละ 16-44 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 29 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 26 บาท/เที่ยว ไม่มีช่วง Off Peak
โดยเชื่อว่ามาตรการนี้ออกมาก็มีการคาดว่าจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10% ส่วนผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการ ทาง กทม. ก็จะเใช้แนวทางนำภาษีจากป้ายวงกลมที่ กทม. เป็นผู้จัดเก็บในส่วนนี้กว่าปีละ 14,000 ล้านบาท นำมาชดเชยเฉลี่ยปีละ 500-1,000 ล้านบาท/ปี ให้แทน