ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมป่าไม้ ไม่ทบทวน ม.7 ปลดล็อกตัดไม้หวงห้าม

สิ่งแวดล้อม
13 พ.ย. 62
11:55
17,372
Logo Thai PBS
กรมป่าไม้ ไม่ทบทวน ม.7 ปลดล็อกตัดไม้หวงห้าม
อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้ไม่จำเป็นต้องทบทวนปลดล็อกมาตรา 7 หลังบางกลุ่มใช้ช่องโหว่สวมสิทธิตัดต้นไม้วัด แหล่งศรัทธาชาวบ้าน ย้ำการปลดล็อกให้ปลูกไม้หวงห้ามเป็นเรื่องดี แต่ต้องประสานอนุรักษ์ไม้ในที่ดินสาธารณะและคุมเข้มสวมสิทธิ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ หลังปลดล็อกมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ประชาชนสามารถทำไม้หวงห้ามในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ของตัวเองได้ แต่กลับพบนายทุนบางส่วนอาศัยช่องโหว่ตัดไม้จากที่สาธารณประโยชน์มาสวมสิทธิ

ม.7 ช่องโหว่สวมสิทธิตัดไม้วัดเชิงพาณิชย์?

ภาพรวมหลังจากแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ยกเลิกมาตรา 7 เพื่อปลดล็อกการปลูกไม้หวงห้าม การครอบครอง การนำเคลื่อนที่ และส่งเสริมการค้าได้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากสนใจ และจูงใจให้ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการขอรับกล้าไม้เพื่อไปปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม พบว่าบางส่วนยังไม่เข้าใจ และมีความพยายามตัดไม้หวงห้ามขนาดใหญ่ เช่น ยาง ประดู่ ตะเคียน บนที่ดินกรรมสิทธิ์ลักษณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือที่สาธารณะ ยกตัวอย่างวัด โรงเรียน สถานที่ราชการ ท้องถิ่น เนื่องจากมีพ่อค้ารับซื้อไปขายต่อ แม้กระบวนการดังกล่าวจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่พยายามประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจว่า การตัดต้นไม้ต้องได้รับความยินยอมจากคนในชุมชน

 

 

ล่าสุด สั่งการไปยังทุกสำนักทั่วประเทศ ว่าการขออนุญาต หรือการขอให้รับรองไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะที่แม้จะมีเอกสารสิทธิ์ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกับวัดท่าทราย จ.นครนายก ซึ่งตัดต้นไม้โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการวัด แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยจนเกิดปัญหาความขัดแย้ง โดยพยายามสร้างความเข้าใจว่าพื้นที่ใดควรต้องอนุรักษ์ไม้ พร้อมส่งหนังสือไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้ประสานงานมหาเถรสมาคม ออกมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์ไม้และใช้ไม้เท่าที่จำเป็น

การตัดต้นไม้ควรได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ตรงนั้น เพราะถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือโรงเรียน ควรได้รับเห็นชอบจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

ตัวเลขคดีสวมสิทธิตัดไม้

ประเด็นสำคัญคือการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และการนำไม้หวงห้ามที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐ หรือพื้นที่ป่าตามกฎหมายมาสวมเป็นไม้ที่อยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้ตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ยังพบการกระทำผิดไม่มากนัก ส่วนใหญ่พบการลักลอบตัดต้นไม้ในที่ดินสาธารณประโยชน์ และอ้างเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองตามกฎหมาย

เมื่อจับกุมผู้กระทำผิดได้ก็จะมีการนำเสนอข่าว ซึ่งเปรียบเทียบตัวเลขแล้วพบว่า เป็นตัวเลขน้อยมากและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สะท้อนว่ากรมป่าไม้ตรวจสอบเข้มงวด และเจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังตรวจสอบพื้นที่ป้องกันการกระทำผิด

เราเอาจริงเอาจัง คนผิดไม่สามารถเล็ดลอดเจ้าหน้าที่ของเราไปได้ ผมถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนไม่กล้ากระทำผิด เพราะตรวจสอบหลายขั้นตอน

ขึ้นทะเบียนขอตัดต้นไม้เพิ่มขึ้น?

หากใช้มาตรการที่เข้มงวดแล้ว เมื่อมีการนำไม้ออกจากที่ดินกรรมสิทธิ์ กรมป่าไม้จะสามารถอำนวยความสะดวกได้ดีขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่ซับซ้อนจนเกิดปัญหาในอนาคต

ขณะที่การขอตัดต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะการลงทะเบียน e-Tree และการลงทะเบียนสวนป่า เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ไม่ได้เป็นจำนวนมากผิดปกติ เนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกไม่นานนัก ส่วนผู้ปลูกเดิมก็อยู่ในวงจำกัดอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ยางนา ไม้สัก และไม้ประดู่ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ และหน่วยป้องกันพัฒนาระดับอำเภอ ตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่การลงทะเบียน

ตรวจทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ตอนเริ่มขอตัด เพราะการยื่นเอกสารจะโชว์ว่าต้นไม้อยู่ที่ไหนบ้าง และเขาต้องการตัดกี่ต้น บัญชีมีข้อพิรุธอะไรหรือไม่ เช่น ต้นไม้ขนาดใหญ่มากเกินไป ยาวผิดปกติ

มาตรการคุมตัดไม้ที่สาธารณประโยชน์

กรมป่าไม้จะตรวจสอบเอกสารทั้งหมดอย่างละเอียด เช่น การขึ้นทะเบียนสวนป่า การยื่นเอกสารขอรับรองไม้ตามมาตรา 18/1 มาตรา 18/2 รวมทั้งตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับที่ดินกรรมสิทธิ์ที่นำมายื่นขอรับรองไม้ ว่าที่ดินดังกล่าวมีต้นไม้อยู่หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และภาพถ่ายทางอากาศได้

หากพบการสวมสิทธิ หรือนำไม้มาจากพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการรับรองไม้ ซึ่งปลัด ทส. สั่งเข้มงวดและเอาผิด

นอกจากนี้ ได้ประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เกี่ยวกับการขอตัดไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งให้ท้องถิ่นทราบว่าจะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างไร เช่น ถ่ายภาพก่อนและหลังตัดต้นไม้ การทำบัญชีไม้ การรับรองโดยผู้นำท้องถิ่น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของเจ้าของไม้ว่ากระทำด้วยความถูกต้อง เพราะหากนำไม้มาให้เจ้าหน้าที่รับรองโดยไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่รับรองให้

มั่นใจในระบบของเรามาก อาจมีการเล็ดลอดได้เป็นบางต้น แต่ไม่กี่คน เพราะเมื่อผิดสังเกตจะดูได้ทันที ไม่มีการหลุดรอดเป็นล็อตใหญ่ เป็นไปไม่ได้

สำรวจต้นไม้ใหญ่ในวัด-โรงเรียน

เมื่อมีการนำเสนอข่าวตัดต้นไม้ในวัดบางแห่ง ส่งผลให้หลายวัดที่เตรียมตัดต้นไม้ตัดสินใจยกเลิกทันที เพราะหากเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียน วัด จะขอให้ตัดเฉพาะต้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นให้ดูแลรักษาตามหลักรุกขกร ตกแต่งไม่ให้กิ่งไม้หักและเป็นอันตรายต่อประชาชน

ไม้ที่เสี่ยงอันตรายหากแต่งได้ให้ทำก่อน หากต้นจะตายอยู่แล้วก็อนุญาตให้ตัดได้ ส่วนกรณีจำเป็นต้องใช้สอย วัดไม่มีงบฯ ขาดอาคารใช้ประกอบศาสนกิจก็จะดูตามความจำเป็น แต่ที่เหลืออยากให้อนุรักษ์ไว้ เพราะต้นไม้ที่อยู่ในวัด หรือโรงเรียน ควรเป็นไม้ที่ให้ใช้ประโยชน์สาธารณะ

ขณะนี้มอบหมายสำนักอนุญาต กรมป่าไม้ ประสานทุกจังหวัด เพื่อสำรวจวัด โรงเรียน และสำนักสงฆ์ที่มีต้นไม้ ทั้งส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่อยู่ในโครงการพุทธอุทยาน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลต้นไม้ใหญ่ทั้งหมด

ต้องทบทวนปลดล็อก ม. 7 หรือไม่

มาตรา 7 เป็นเรื่องที่ดีมาก เชื่อว่าปี 2563 ประชาชนจะให้ความสนใจปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้กรมป่าไม้ปลูกเอง 53 ล้านต้น และมีกล้าไม้ที่แจกจ่ายให้ประชาชนในโครงการ "รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน" เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 12 ล้านต้น นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายโครงการเป็น 100 ล้านต้น เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี

เราจะไม่นำคนที่ทำผิดไม่กี่คน มาเป็นอุปสรรคของคนที่ทำดีมากมาย แต่จะเข้มข้นกับคนที่ทำผิดมากที่สุด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพ.ร.บ.ป่าไม้ ปลดล็อกปลูกไม้หวงห้าม 

ร้องศูนย์ดำรงธรรม "ทวงคืน" ไม้ศักดิ์สิทธิ์ วัดท่าทราย

ช่องว่าง! ปลดล็อกมาตรา 7 สู่ 2 คดีวัดตัดไม้หวงห้าม 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง