วันนี้ (14 พ.ย.2562) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า นโยบายการปฏิรูปที่ดิน ที่กรมป่าไม้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มอบให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ตั้งแต่ปี 2536 ช่วงนั้นมอบไปประมาณ 40 ล้านไร่ และมีบางส่วนที่กันคืนมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการอนุรักษ์ไว้ มีสภาพป่าคืนมา 13.6 ล้านไร่ แต่มีบางส่วนที่มีสภาพป่า หรืออยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถจัดพื้นที่ สปก. ประมาณ 5 ล้านไร่ และเมื่อตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีพื้นที่ป่า 3 ล้านไร่เศษ ส่วนที่เหลือมีการจัด สปก.แล้ว
สำหรับกระบวนการเข้าไปจัด สปก. มีบางส่วนมีการทับซ้อนในการออก สปก. บางครั้งออกนอกเขตพื้นที่พระราชกฤษฎีกา หรือเข้ามาในเขตป่าสงวน แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลแต่ละช่วงมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาของประชาชน
นายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายนโยบายชัดเจนในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทส. และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับที่ดิน สปก. เพราะแต่ละหน่วยงานมีเพียงข้อมูลของตัวเองเท่านั้น โดยจะใช้หลักการวันแมป ในการปรับให้เป็นเส้นที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งภาคราชการ และประชาชน กรมป่าไม้ กรมอุทยาน และนิคมฯ ต้องหารือว่าที่ตรงนี้ควรยุติ หรือจัดสรรอย่างไร ต้องเป็น สปก.ต่อ หรือกันคืนมา รวมทั้งผู้ที่เข้าไปอยู่ทำกินมีคุณสมบัติหรือไม่
เบื้องต้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเพื่อหารือให้ได้ข้อยุติ ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด รวมทั้งกระทบประชาชนน้อยที่สุด
ตัวเลขทวงคืนที่ดิน สปก.
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจปี 2557 พบพื้นที่ยังมีสภาพป่า 1.2 ล้านไร่ อยู่ในส่วนการแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 หากบุคคลใดเป็นผู้ยากไร้และกินมาก่อนปี 2557 จะได้รับสิทธิพิจาณาดำเนินการตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ส่วนการบุกรุกพื้นที่ภายหลังปี 2557 ก็ต้องถูกดำเนินคดี
ในการทำข้อมูลเมื่อ 17 มิ.ย.2557 หากพบพื้นที่มีสภาพป่าอยู่ ต้องประสาน สปก.ขอคืนมาอยู่ในความดูและของกรมป่าไม้
ขณะที่พบว่าในพื้นที่หลายจังหวัดมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทั้ง สปก. และพื้นที่นิคมสร้างตนเอง เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีกหลายจังหวัด ที่ต้องแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขเดียวกัน อาจกำหนดหลักการ และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่
ตรงไหนที่สมควรอนุรักษ์ไว้ มีความล่อแหลม มีความเปราะบางต่อพื้นที่ในเรื่องของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ควรเป็นพื้นที่ที่สงวนคุ้มครองไว้ ก็จะอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ
เล็งใช้ "วันแมป" แก้ปมที่ดินทับซ้อน
เมื่อถามว่าจะมีการกำหนดเวลาในการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนเมื่อใด อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ต้องหารือกับคณะทำงานร่วมก่อนทั้ง 3 กระทรวง และรวบรวมข้อมูลนำสนอต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าควรว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด เพราะขณะนี้ข้อมูลพื้นฐานขอบเขตแต่ละฝ่าย ยังถือที่เป็นข้อมูลของตัวเอง ซึ่งการเสนอข้อมูลจะต้องมีการคัดกรองจาก 3 หน่วยงานหลักก่อน
การแก้ปัญหาต้องใช้หลักการของวันแมป ที่ต้องปรับให้เป็นเส้นที่เหมาะสม ถูกต้อง เกิดประโยชน์ทั้งภาคราชการและประชาชน
ไม่ดันเข้าโฉนดทองคำ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปทำกินอยู่นานแล้ว หรือทำกินอยู่เดิม ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้กลับมาเป็นสภาพป่า เพราะการแก้ปัญหาทั้งหมดต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานภาพ และสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่การปลดล็อกปัญหาจะนำไปสู่นโยบายโฉนดทองคำหรือไม่ นายอรรถพล ระบุว่า ต้องมองสภาพความเป็นจริง ผู้ที่อยู่ในที่ดินของรัฐ ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือที่สาธารณะอื่น ๆ หากอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถนำเขาออกมาได้ เพราะไม่มีที่ดินทำกินรองรับ ก็ต้องแก้ไขปัญหา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินคดีกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ
ถ้าเป็นกลุ่มที่มีคุณสมบัติจริงก็ต้องแก้ไขในส่วนที่ทำได้ ให้มาอยู่ในการจัดระเบียบของรัฐ เพราะที่ดินเป็นของรัฐ ไม่ได้มอบให้เป็นสิทธิส่วนตัว แต่เป็นการรับรองสิทธิให้อยู่อย่างถูกต้อง
ส่วนกรณีวังน้ำเขียวที่มีการบุกรุกโดยนายทุน เป็นปัญหาที่มีส่วนทั้งผู้ยากไร้และผู้มีฐานะ ที่ไปซื้อที่ดินมาก่อสร้างรีสอร์ท หรือโรงแรม การแก้ปัญหาต้องแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน ว่าใครควรจะได้สิทธิ หรือใครไม่ควรจะได้รับสิทธิ โดยต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ แต่สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ให้สิทธิกับผู้ยากไร้ที่อยู่ทำกินเดิมแล้ว แต่เสียสิทธิ เช่น พื้นที่ทับซ้อนแนวเขตต่าง ๆ
สรุปพื้นที่ระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินและเขตป่าไม้
ข้อมูลจากกรมป่าไม้ ระบุว่า มีการมอบพื้นที่ให้ สปก. 44 ล้านไร่ ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.2535 ถึง 30 ธ.ค.2536 ดังนี้
- พื้นที่เหมาะสมต่อการเกษตร (A) 7 ล้านไร่
- พื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (E) 37 ล้านไร่
- กันคืน 13.6 ล้านไร่ มติ ครม. เมื่อ 1 มี.ค.2537
กรมป่าไม้กันคืน 7 ลักษณะ 13.6 ล้านไร่ บันทึกข้อตกลง 13 ก.ย.2538 โดย 7 ลักษณะพื้นที่กันคืนกลับกรมป่าไม้ ได้แก่ พื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า, พื้นที่ที่มีศักยภาพทำเกษตรไม่คุ้มค่า, พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ, พื้นที่ภูเขาสูงชัน พื้นที่ต้นน้ำลำธาร, พื้นที่มีภาระผูกพัน, ป่าชายเลน, ป่าเสื่อมโทรมไม่มีราษฎรถือครอง
นอกจากนี้ พื้นที่ที่ สปก. ต้องคืนกรมป่าไม้เพิ่มเติม 2 ประเภท ได้แก่
- พื้นที่คงสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545 จำนวน 3.6 ล้านไร่
- พื้นที่คงสภาพป่าตามภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2557 จำนวน 1.2 ล้านไร่
ส่วนพื้นที่ สปก. สำรวจรังวัดออกนอกพื้นที่รับผิดชอบ 1.4 ล้านไร่ ต้องยกเลิกหนังสืออนุญาต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยังไม่ผิด! บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์เป็นเขตที่ดิน สทก.