ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นศ.จบใหม่เข้าตลาดแรงงานไม่ได้ เสียโอกาสเศรษฐกิจแสนล้าน

เศรษฐกิจ
15 พ.ย. 62
07:04
2,335
Logo Thai PBS
นศ.จบใหม่เข้าตลาดแรงงานไม่ได้ เสียโอกาสเศรษฐกิจแสนล้าน
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีผู้ว่างงานเดือน ต.ค.2562 กว่า 355,000 คน หรือร้อยละ 0.9 แต่หากแบ่งตามระดับการศึกษาแล้ว พบว่าอยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุด ซึ่ง ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาทในแต่ละปี

วันนี้ (15 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกงานของบัณฑิตจบใหม่ เกิดจากการเลือกงาน และภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน ที่ต้องการทักษะในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น เมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงท้าทายความสามารถของนักศึกษาจบใหม่มากพอสมควร

หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ว่างงานแบ่งตามระดับการศึกษาที่สำเร็จในเดือน ต.ค. พบว่าผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มี 147,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับประถมศึกษา ตามลำดับ ซึ่ง รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่านักศึกษาจบใหม่ที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเเรงงานได้ ถือเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาทในแต่ละปี

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

รศ.ยงยุทธ ยังระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้เเรงงานปริญญาตรีจำนวนมาก ตรงข้ามกับไทย เพราะลักษณะฐานการผลิตของไทย ใช้แรงงานที่มีทักษะไม่สูงมาก คือ เซมิ-สกิล คิดเป็นสัดส่วน มากกว่าร้อยละ 70 ขณะที่แรงงานทักษะสูง มีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 รัฐต้องหาวิธีนำเเรงงานเหล่านี้ไป อัพ-สกิล หรือ รี-สกิล เพื่อให้สามารถทำงานได้

ผู้เข้าตลาดแรงงานปี 63 กว่า 5 แสนคน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2563 จะมีประมาณ 524,893 คน เพิ่มจากปีนี้ ร้อยละ 9.27 โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 60.75 เป็นผู้ที่จบปริญญาตรี

ขณะที่แนวโน้มภาคส่งออก ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคโลจิสติกส์ ค้าปลีก-ค้าส่ง และภาคบริการต่างๆ อยู่ในช่วงชะลอตัว ส่วนใหญ่ลดการรับแรงงาน และมีการปรับใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะทำให้การจ้างลดลง ดังนั้น ในปี 2563 จึงมีปัจจัยเสี่ยงต่อการตกงานสูง หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงไร้ปัจจัยบวก

5 อันดับตำแหน่งงานที่ต้องการมากที่สุด

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่าตำแหน่งงานที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือแรงงานด้านการผลิต พนักงานขาย เสมียน พนักงานทั่วไป พนักงานธุรการ พนักงานบริการลูกค้า และเจ้าหน้าที่คลังสินค้า ตั้งแต่ระดับ ปวช.- ปวส. จนถึงปริญญาตรี

ความต้องการแรงงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการเรียนในสายอาชีพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ อธิบดีกรมการจัดหางาน จึงอยากให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมอง ต่อการเลือกสายศึกษา มาเลือกเรียนในสายอาชีพ เพื่อจะได้มีงานทำเมื่อจบการศึกษา สามารถสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับตัวเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"ทักษะความรู้-อารมณ์" มีความสำคัญ

นอกจากความสามารถเฉพาะสาขาแล้ว ความสามารถที่เป็น Soft Skills หรือทักษะความรู้และอารมณ์ เช่น การบริหารงาน การจัดการอารมณ์ และการเชื่อมโยงศาสตร์รอบด้าน ถือเป็นทักษะที่จำเป็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา ขณะที่ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ก็ยังคงมีความสำคัญ ไม่แพ้ทักษะความรู้และอารมณ์

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการหางานทุกวันนี้ค่อนข้างยาก หลายบริษัทรัดเข็มขัด แต่ในยุคดิจิทัลยังมีโอกาสสำหรับคนที่เตรียมพร้อม โดยอาชีพที่น่าสนใจในยุคนี้ เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถใช้ big data มาวิเคราะห์ วางแผนการตลาด เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค และสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ เรียกได้ว่าแม้สถานการณ์การจ้างงานดูจะซบเซา จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง และการก้าวสู่ยุคดิจิทัล แต่ยังมีอาชีพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของนายจ้างอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ว่างงาน" ฝันร้ายที่ไม่ใช่ของใครคนเดียว

โชว์ปี 62 โรงงานเปิดใหม่ 2,889 แห่ง สูงกว่าปิดกิจการ 107%

ก.การอุดมศึกษาฯ ทุ่มเงิน 8,600 ล้านบาท แก้บัณฑิตตกงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง