วันนี้ (15 พ.ย.2562) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ในปีนี้เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ปิดบัญชีปลอม 5.4 พันล้านบัญชี บนแพลตฟอร์มหลัก ขณะที่มีการปิดบัญชีปลอมประมาณ 3.3 พันล้านบัญชีในปีก่อน
เฟซบุ๊กตรวจพบบัญชีปลอมถึงร้อยละ 5 จากบัญชีผู้ใช้เดือนละ 2.5 พันล้านบัญชี
เฟซบุ๊ก ระบุว่า แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยทำให้เฟซบุ๊กตรวจจับบัญชีปลอมได้มากขึ้น แต่ในทันทีที่มีการจัดการ บัญชีปลอมเหล่านั้นก็จะถูกสร้างขึ้นใหม่ในทันที การเปิดเผยรายงานดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำถึงความท้าทายของเฟซบุ๊ก เนื่องจากมีการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์และผู้เฝ้าระวังกำลังตรวจสอบเนื้อหาที่หลอกลวงและสร้างข่าวเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากการเปิดเผยเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊กได้เรียกร้องให้มีการรายงานจำนวนบัญชีปลอมที่ถูกลบออกไปเพื่อแสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊กกำลังจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังและเรียกร้องให้แพลตฟอร์มอื่นทำการเปิดเผยข้อมูลที่คล้ายคลึงกันด้วย โดยจำนวนบัญชีปลอมที่ปิดการใช้งานโดยเฟซบุ๊กพุ่งสูงขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ได้ปิดบัญชีมากกว่า 2 พันล้านบัญชี ขณะที่ 3 เดือนต่อมาได้ปิดบัญชีปลอมไป 1.5 พันล้าน พร้อมปรับปรุงการปิดกั้นบัญชีปลอมใหม่ แต่จำนวนบัญชีปลอมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นว่าได้ปิดบัญชีปลอมออกไป 1.7 พันล้านบัญชี ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.
การประกาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานด้านความโปร่งใสล่าสุดของเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอินสตาแกรม ( Instagram) ด้วย ในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. ข้อมูลอินสตาแกรมแสดงให้เห็นว่า มีภาพ 3 ล้านโพสต์ที่ละเมิดนโยบายต่อต้านการค้ายาเสพติด เฟซบุ๊กได้ดำเนินการกับเนื้อหาบนอินสตาแกรมอีก 95,000 ภาพที่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธ รวมถึงข้อความที่ครอบคลุมถึงการแสวงประโยชน์จากเด็ก การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตนเอง และการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย แต่การรายงานบนอินสตาแกรมยังไม่ครอบคลุมถึงโพสต์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งและคำพูดแสดงความเกลียดชัง
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เฟซบุ๊กได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งรัฐสภาและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับข้อความแสดงความเกลียดชังบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแกนนำเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าหารือกับซัคเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับข้อความที่สร้างความแตกแยกและการกลั่นแกล้ง รวมถึงคำพูดแสดงความเกลียดชัง โดยอาจส่งผลกระทบต่อประชากรของโลกได้ผ่านช่องโหว่บนโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กก็ได้เริ่มอนุญาตให้อัลกอริทึมตรวจค้นคำพูดแสดงความเกลียดชัง และเริ่มลบเนื้อหาที่เชื่อว่าละเมิดนโยบายของ บริษัท โดยอัตโนมัติ ซึ่งมีการลบเนื้อหาคำพูดแสดงความเกลียดชังมากถึง 7 ล้านข้อความ ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. ตามรายงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 60 จากช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยเฟซบุ๊กตรวจพบข้อความเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้งานอื่นจะเห็นเนื้อหามากกว่า ร้อยละ 80