อีกเพียง 2 วัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มีกำหนดเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 350 ปีแห่งการสถาปนามิสซังสยามและฉลอง 50 ปี แห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและนครรัฐวาติกัน ตามคำเชิญของรัฐบาลและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย.นี้
สำหรับการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในปีนี้ นับว่าเป็นการเสด็จเยือนครั้งแรกในรอบ 35 ปี หลังจากการเสด็จเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในปี 1984 โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ พิธีบูชาขอบพระคุณหรือมิสซา ที่สนามศุภชลาศัย ในวันที่ 21 พ.ย. รวมถึงพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก ในวันที่ 22 พ.ย.นี้
บาทหลวง ยอห์น บัปติสต์ สมเกียรติ ตรีนิกร อุปสังฆราชอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ที่สนามศุภชลาศัย จะมีการจัดกิจกรรมร่วมเดินบนสะพานแห่งความรัก โดยจะมีชาวคริสตชนร่วมงาน 50,000 คน ซึ่งแม้ที่นั่งในสนามศุภชลาศัยมีความจุเพียง 19,000 คน แต่เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมเก้าอี้เพิ่มเข้าไปในสนามอีก 32,000 คน เนื่องจาก นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีคริสตชนจากประเทศต่างๆ ที่สมเด็จพระสันตะปาปาไม่ได้เสด็จไปเยือน เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จที่ประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะรสิตชนชาวเวียดนาม นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพื้นที่สนามเทพหัสดินเพื่อรองรับชาวคริสตชนอีกกว่า 10,000 คน
เวลา 17.00 น. สมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ชาวคริสตชนคาทอลิกจะร่วมสวดภาวนาด้วยการสวดสายประคำ ไตร่ตรองชีวิตพระเยซู เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเวียดนาม เพื่อรอคอยสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จ
ต่อมาเวลา 17.30 น. สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จถึงสนามศุภชลาศัย โดยพระองค์จะเสด็จโดยรถปาป้าโมบาย หรือรถเปิดประทุน ทักทายชาวคริสตชน รถจะเคลื่อนวนไปในสนามเทพหัสดิน 1 รอบ จากนั้นจะวนไปที่สนามศุภชลาศัย 1 รอบ ก่อนจะสมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์
เมื่อเวลา 18.30 น. จะมีพิธีบูชาขอบพระคุณหรือมิสซา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และมีการรับศีลมหาสนิท ทั้งนี้ การร่วมพิธีกรรม ประชาชนควรแต่งกายสุภาพและสะดวก สุภาพสตรีสวมกางเกงได้ สามารถนำกล้องเข้างานได้ โดยนอกจากพิธีมิสซาแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย
อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ "โป๊ปฟรานซิส"
ในส่วนของอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สมเด็จพระสันตะปาปา จะทรงสวมระหว่างประกอบศาสนพิธีดังกล่าว รวมถึงอาภรณ์หรือชุดที่บรรดามุขนายก หรือ “บิชอป” จะใส่เข้าร่วมพิธี เป็นหน้าที่ของแผนกอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์และศาสนภัณฑ์ คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า แห่งกรุงเทพฯ รับผิดชอบในการตัดเย็บ โดยได้รับความช่วยเหลือจากโรงงานผลิตเอกชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วย
ภาพ : Pope Visit Thailand
“เสื้อกาสุลา” หรือเสื้อชั้นนอกที่ใช้ประกอบพิธีมิสซาแบ่งเป็น 2 แบบ โดยชุด “สีทอง” ใช้ในวันงานที่สนามศุภชลาศัยวันที่ 21 พ.ย. เพราะสีทองและสีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์และความชื่นชมยินดี ตรงกับวันระลึกถึงแม่พระถวายพระองค์ที่พระวิหาร
ขณะที่ชุด “สีแดง” จะใช้ในวันที่ 22 พ.ย. ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยสีแดงเป็นการระลึกถึงนักบุญเซซีลีอา ซึ่งเป็นมรณสักขีหรือนักบุญผู้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในพระเจ้า จึงใช้สีแดงที่สะท้อนถึงความรักและโลหิตที่หลั่งออกมาเพราะความรักต่อพระเจ้า
ภาพ : Pope Visit Thailand
ชุดของโป๊ปฟรานซิสทั้งสีทองและสีแดงมีความพิเศษคือใช้ผ้าไหมไทยจาก “จิม ธอมป์สัน” ผสานกับเทคนิกของ การปักลวดลายกนกลงบนเนื้อผ้า ถือเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมไทยให้ทั่วโลกได้เห็น ขณะที่อาภรณ์ของบรรดามุขนายก สีทอง 120 ชุด และ สีแดง 76 ชุด ใช้วิธี “พิมพ์แบบซัพพลีเมนชั่น” เพื่อความรวดเร็วในการผลิตและประหยัดต้นทุน ช่างตัดเย็บ 12 คน ทำงานหนักวันละ 10 ชั่วโมง ช่วยกันผลิตชุดอาภรณ์กว่า 200 ชุด ใกล้จะแล้วเสร็จก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จมาถึง ทุกคนต่างปลาบปลื้มที่ได้มีส่วนร่วมในวาระแห่งความชื่นชมยินดีนี้
ภาพ : Pope Visit Thailand
อาภรณ์ศักด์สิทธิ์ที่ว่านี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว ยังตั้งใจนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้ทั่วโลกได้ประจักษ์
ผ่านทางการถ่ายทอดสดพิธีสำคัญนี้ให้ได้รับกันทั่วโลก
จอกกาลิกส์ - รูปแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เยือนไทย
พุฒิพงศ์ พุตฒาลศรี นักประวัติศาสตร์คาทอลิกไทย ระบุว่า จอกกาลิกส์ อายุ 173 ปี และ "รูปแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ อายุ 100 ปี" จะถูกจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง สำหรับจอกกาลิกส์ ได้ถูกผลิตขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1846 หรือช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 โดยนักประวัติศาสตร์คาทอลิกเชื่อว่าจอกใบนี้เป็นสมบัติของ พระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว วัสดุที่ใช้เป็นเงินแท้ และใช้กรรมวิธีกะไหล่ทอง โดยศิลปะที่ใช้ในการออกแบบเป็นศิลปะยุคบาโรก
เนื่องในโอกาส 350 ปีมิสซังสยาม คุณค่าจอกกาลิกส์ใบนี้จึงเป็นเหมือนตัวแทนของความเชื่อที่บรรดามิชชันนารีได้นำเข้ามาสู่มิสซังสยามในหลายร้อยปีก่อน เป็นมรดกที่มิชชันนารีได้มอบให้กับสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
รูปแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ สั่งผลิตเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส โดยโรงงานผลิตรูปพระขนาดใหญ่ที่แคว้นนอร์มังดี โดยคุณพ่อเอมิล กอลมเบย์ ได้สั่งเข้ามาในช่วงที่อาสนวิหารอัสสัมชัญสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1919
สำหรับแม่พระรูปนี้จะถูกตั้งอยู่บริเวณพระแท่นในพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ สนามศุภชลาศัย ในวันที่ 21 พ.ย.โดยความสำคัญของแม่พระรูปนี้ คือ แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เป็นองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรในประเทศไทย ดังนั้นจึงถูกคัดเลือกนำมาใช้ในเหตุการณ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น
ภาพ : Pope Visit Thailand