ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทางบังคับเลือก”

Logo Thai PBS
“ทางบังคับเลือก”
ผลกระทบตามมามากมายหลังการแบนสารเคมีเกษตร และอาจเหนือความคาดหมายของผู้เดินหน้าขับเคลื่อน เพราะโจทย์ขยายวงกว้างทั้งการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาภายในและวาระซ่อนเร้นที่ไม่อาจยืนอยู่หลังฉากได้อีก

“มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ถึงกับส่ายศีรษะ หลังพบว่า ผักนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านและชาติยักษ์ใหญ่ ไม่สามารถตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนเพื่อสกัดกั้นได้ทันท่วงที สินค้าเกษตรจำนวนมหาศาลผ่านเส้นทางธรรมชาติจากภาคเหนือ ใช้เวลาแค่วันเดียว ก็ส่งตรงถึงตลาดค้าส่งในภาคกลาง ก่อนกระจายสู่ผู้บริโภค

ไม่มีอะไรยืนยันว่า ผลผลิตไม่ปนเปื้อนสารเคมีเกษตร “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ที่ รมช.เกษตรฯ เป็นหนึ่งในหัวหอก เดินหน้าเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครอง ก่อนจะทำได้สำเร็จเมื่อ 22 ต.ค. และมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้

ผู้ประกอบการไทย ที่ใช้วัตถุดิบอย่างแป้งสาลี ถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำลังคิดหนัก

เมื่อบราซิลคือชาติที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งคำถามถึงการค้าร่วมกัน เพราะพวกเขายังใช้ไกลโฟเซตในกระบวนการผลิต การแบน 3 สารทำให้สินค้าเกษตรนำเข้า ต้องมีค่า MRLs ระดับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด เท่ากับ 0% ซึ่งเกินมาตรฐานการค้าสากล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการพิจารณามิได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์

เฟซบุ๊ก “อลงกรณ์ พลบุตร” ยอมรับถึง “ประเด็นอ่อนไหว” ที่ไม่ธรรมดา หลังไปดูงานในไร่อ้อย จ.สุพรรณบุรี และสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่ถูกอ้างว่าเป็น ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช

ย้ำอีกครั้งว่าขั้นตอนการนำ “ชีวภัณฑ์” ไปใช้ในการเกษตรได้อย่างถูกกฎหมาย ต้องผ่านการทดสอบ 3 ขั้นตอน 

1.การประเมินข้อมูลพิษวิทยา

2.การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และ

3.การทดลองประสิทธิภาพวัตถุอันตราย และต้องขึ้นทะเบียนเป็น “วัตถุอันตรายสำหรับการเกษตร” 

หากยึดจากข้อมูลตามโพสต์ ต้องใช้เวลา 1 - 3 ปี

เมื่อถึงเวลานั้น ไทยจึงจะมีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช “ถูกกฎหมาย” ตัวแรก ไม่นับรวมที่ประกาศขายกันเกลื่อนสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้

“อลงกรณ์” ยังขอความเป็นธรรม แม้ 1 ในสิ่งทดแทน จะถูกวิจารณ์ว่าเชื่อมโยงกับนักธุรกิจการเมืองในภาคเหนือและอีสาน

ไทยพีบีเอสตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบบริษัท สินเกษตร กรุ๊ป จำกัด ใน ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์

หนึ่งในผู้ถือหุ้น มีนามสกุล “นพดลธิยากูล” เชื่อมโยงกับข้อมูลในหนังสือบริคณห์สนธิ จัดตั้งบริษัทเชียงใหม่ คอนสตรั่คชั่น จำกัด สะท้อนว่าตระกูลนี้เคยร่วมธุรกิจกับ “คะแนน สุภา” คุณพ่อตาของ “เนวิน ชิดชอบ”

 

 

ขณะที่ “ฐปนรมย์ แจ่มใส” กับบริษัท วอน ซิสเต็มส์ จำกัด นำเสนอชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชสกัดจากสาหร่ายทะเล มั่นใจจะเป็นทางเลือกใหม่ได้ หลังมีรายงานผลทดสอบจากพิษวิทยาออกมาแล้ว

ชายชาวสุรินทร์ คนบ้านเดียวกัน และปรากฏคลิปทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับ “ธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา” อดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่ย้ายมาสมัครเลือกตั้ง 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ แม้ “บิ๊กเกิ๊ด” จะสอบตก แต่ปัจจุบันยังได้เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“ออกตัวก่อนย่อมได้เปรียบ” ผลิตภัณฑ์ของเขาถูกนำเสนอ หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนเพียง 2 วัน และส่งตัวอย่างไปทดสอบในวันถัดมาทันที หรือ 25 ตุลาคม 2562

 

Cr.YouTube : SURINTV

Cr.YouTube : SURINTV

 

 

 

อีกด้านก็ยังมีสิ่งคล้าย “แสงสว่าง” เมื่อภาคประชาสังคมชูแนวคิด “หญ้าไม่ใช่วัชพืช”


โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ เกษตรกรผู้เดินสายบรรยายตามเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สาธิตการใช้หญ้าให้เกิดประโยชน์เผยแพร่ทางยูทูบ

หนึ่งในแนวทางตอบโจทย์ใหญ่ เมื่อการเกษตรอุตสาหกรรมแตกต่างทั้งชนิดพืช ลักษณะพื้นที่ ดินหรือสภาพอากาศ

 

 

และ 19 พฤศจิกายน เขาร่วมเวทีกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งไบโอไทย, ไทยแพน, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ฯลฯ


“แนวทาง ทางเลือก และมาตรการสนับสนุนเกษตรกร : หลังแบน 3 สารพิษ”

ก่อนที่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี จะแถลงข่าวปิดงาน

“ในที่สุดแล้ว มีทางเลือกสำหรับเกษตรกรทุกคน เรายืนยันเรื่องนี้จากประสบการณ์จริง เครือข่ายทั้งหมดยืนยันต้องยกเลิกการใช้สารเคมีสามสารตามกรอบเวลาที่กำหนด เรามีทางเลือกสำหรับเกษตรกร รายใหญ่และรายย่อย

และเรียกร้องต่อรัฐบาลต้องทำหน้าที่เยียวยาชดเชยเกษตรกรที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ต้องเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ต้องลดภาษีเครื่องจักรกล ลดภาษีวัสดุที่ใช้ในการคลุมดิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และสุดท้ายให้มีกองทุนกสิกรรมยั่งยืน เราอยากเห็นระบบกสิกรรมของประเทศมุ่งเป็นความยั่งยืน”

ประเด็นนี้เดินทางผ่าน “จุดกลับตัว” มาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับสากลมาแล้ว

อยู่ที่ว่าจะไปถึง “เกษตรกรรมยั่งยืน” หรือไม่ ตามที่เคยมี ร่าง พ.ร.บ.เสนอไว้ในยุค รมช.เกษตรฯ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” แห่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

แบนสารเคมีก่อน แล้วหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรภายหลัง? 

แบนสารเคมีก่อน แล้วหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายหลัง?

แบนสารเคมีก่อน แล้วหาทางจัดการสารเคมีในโกดังภายหลัง?

แบนสารเคมีก่อน แล้วหาทางเจรจาคู่ค้าต่างชาติภายหลัง?

แบนสารเคมีก่อน แล้วหาทางแก้ปัญหาภายหลัง?

แบนทางเลือกหนึ่งไปก่อน แล้วหาทางเลือกบังคับเลือกให้ภายหลัง ?

 

 จตุรงค์ แสงโชติกุล 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง