ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุ

Logo Thai PBS
“ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุ
หุ่นยนต์ต้นแบบ “ชูใจ” งานวิจัยและพัฒนาที่นำความรู้ด้าน AI บูรณาการกับหลักการทางจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทางในเรื่องผู้สูงอายุ เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างระบบหุ่นยนต์ที่เข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ

หุ่นยนต์ต้นแบบ “ชูใจ” เป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย เป็นงานวิจัยและพัฒนาที่นำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI บูรณาการกับหลักการทางจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทางในเรื่องผู้สูงอายุ เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างระบบหุ่นยนต์ที่เข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ พร้อมทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเข้าถึงจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งยังพูดคุยเล่าเรื่องราวด้วยภาษาไทย

โดยเมื่อทำการพูดคุยกับหุ่นยนต์เพื่อประเมินภาวะอารมณ์แล้ว หุ่นยนต์จะจัดโปรแกรมการดูแลด้านอารมณ์ให้เหมาะกับสภาวะอารมณ์และความต้องการของแต่ละบุคคล (personalize intervention) ในระดับที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะส่งผลให้เกิดอารมณ์ในแง่ลบต่อผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ชูใจ ยังสามารถประเมินภาวะสภาพจิต ภาวะความจำ และจัดโปรแกรมช่วยฝึกความจำในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 โดยในปี 2564 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนสูงถึง 20% และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 28%

จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีแนวทางผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) หรือผู้ป่วยระยะพักฟื้น ที่มีบุคลากรที่มีทักษะ มีความรู้ มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรเฉพาะทางการพยาบาลผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านอารมณ์และจิตใจ ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต จิตวิทยาผู้สูงอายุ สภาวะอารมณ์ในผู้สูงอายุ ปัญหาและการเปลี่ยนเปลงในวัยสูงอายุ และต้องสามารถประเมินแนวโน้มปัญหาพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นของผู้สูงอายุได้ เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษา การช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีระยะเวลการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2563

----------------------------

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBS
ที่เพจ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง