วันนี้ (22 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเลื่อมล้ำทางรายได้และชนชั้น เป็นประเด็นที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงให้ความสำคัญและตรัสถึงบ่อยครั้ง พระองค์ทรงเคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่อิงทุนนิยมสุดโต่ง ทำให้ทรัพยากรต่างๆ ตกอยู่กับกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ความเหลื่อมล้ำถูกถ่างออกไปจนนำไปสู่ปัญหาทางสังคม
"อาร์เจนตินา" มีผลต่อแนวคิดเศรษฐกิจ "โป๊ปฟรานซิส"
อิทธิพลสำคัญที่น่าจะมีผลต่อแนวคิดด้านเศรษฐกิจของพระองค์ คือทรงเป็นชาวอาร์เจนตินา ซึ่งอาร์เจนตินา เคยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในปี 1913 แต่ได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เพราะการดำเนินนโยบายเสรีนิยมสุดโต่งของรัฐบาล และการวางนโยบายการเงิน-การคลังที่ไม่เหมาะสม
วิกฤตดังกล่าว ส่งผลให้ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากต้องตกงาน และช่องว่างระหว่างผู้ที่มีรายได้น้อยกับผู้ที่มีรายได้มากขยายเพิ่มขึ้น โดยในระหว่างเดือน ต.ค.2002 ประชาชนอาร์เจนตินาที่อยู่ในเมืองเกินครึ่งอยู่ในสภาวะยากจน แม้กระทั่งหมอก็ยังตกงาน ยิ่งไปกว่านั้น อาร์เจนตินายังเจอความไม่สงบทางการเมืองบ่อยครั้ง ปัญหาทุจริตในหมู่นักการเมือง เมื่อบวกกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จึงกลายเป็นกับดักเชิงโครงสร้างที่ทำให้อาร์เจนตินาติดหล่ม
จึงไม่น่าแปลก หากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่ไร้ความเป็นธรรม ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงได้รับการขนานนามว่า ‘Pope of the Poor’
เชิญนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ระดมแนวคิด "เศรษฐกิจใหม่"
ไม่เพียงแต่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมีแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเชิญนักเศรษฐศาสตร์หนุ่ม - สาว และผู้บริหารทั่วโลกให้ไปพบกันที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในวันที่ 26-28 มี.ค.2020 เพื่อช่วยกันระดมความเห็นในการสร้างแนวคิดของเศรษฐกิจใหม่ ไม่อิงทุนนิยมแบบสุดโต่ง แต่แบ่งปันความเจริญเติบโตให้กระจายอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจฟรานซิสโก” หรือ the Economy of Francesco
เจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและต่อสู้ความยากจน กล่าวว่า โลกต้องการแนวทางเศรษฐกิจเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งการพบกันของคนรุ่นใหม่นี้ จะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลก ให้มีสิทธิภาพมากขึ้นแก่คนรุ่นต่อๆ ไป
ศ.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ นักวิชาการจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เพราะโลกยุคต่อไปจะต่างจากเดิม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่จึงมีส่วนสำคัญในสร้างงานและการออกแบบระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตต่อไปได้