วันนี้ (25 พ.ย.2562) ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี รายงานการผลการศึกษาพฤติกรรมการเงิน จากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคนกลุ่มเจนวาย (Gen Y) หรือผู้มีอายุระหว่าง 23-38 ปี พบว่า คนส่วนใหญ่ฝันอยากมีบ้านและรถยนต์เป็นของตัวเองก่อนอายุ 40 ปี และเมื่อเริ่มทำงาน ตั้งเป้าหมายมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่จะออมเงินเฉลี่ยเพียงเดือนละ 5,500 บาท
แต่ในความเป็นจริง นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี กล่าวว่า คนเจนวายส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า "ของมันต้องมี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า นาฬิกา หรือเครื่องประดับ ร้อยละ 69
ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถ ตามความฝันกลับมีสัดส่วนลดลง รวมทั้งสัดส่วนเงินออมไม่ถึงร้อยละ 10 คิดเป็นรายจ่ายของมันต้องมี 95,000 บาท เมื่อเทียบกับรายได้ต่อปี 370,000 บาทต่อปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี โดยรายจ่ายของมันต้องมีของเจนวายปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 112 เมื่อเทียบกับปี 2551 หรือมากกว่า 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบกับ 8 เท่าตัวของมูลค่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือร้อยละ 91 ของมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 5 ปี
ผลสำรวจยังพบว่า คนเจนวายส่วนใหญ่ซื้อสินค้าเหล่านั้นเพราะกลัวตกกระแส ร้อยละ 42 มากกว่ามองว่าเป็นของจำเป็น ร้อยละ 37 แถมเงินที่ใช้ซื้อมาจากการกู้ธนาคาร โดยใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 ของเจนวาย ผ่อนชำระสินค้าและบริการแบบเสียดอกเบี้ย
ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนเจนวายมีการกู้เงิน 7.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรเจนวาย มีภาระหนี้เฉลี่ยคนละ 432,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 1.4 ล้านคน เป็นหนี้เสียร้อยละ 7.1 ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ
ทั้งนี้ หากเจาะลึกพฤติกรรมการเงินและทัศนคติของเจนวาย พบว่า คนเจนวายมากกว่า 6.8 ล้านคนให้ความสำคัญกับการใช้จ่าย "ของมันต้องมี" มากกว่า "เงินเก็บ" เพราะเมื่อเงินเดือนออก คนเจนวาย ร้อยละ 60 นำไปชำระหนี้และซื้อของก่อนเก็บออม อีกทั้งยังเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งตรงข้ามกับคนเจนวายที่มีพฤติกรรมของมันต้องมี แต่เก็บเงินได้ มักวางแผนการเงิน ผ่านบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง ลงทุนในหุ้น หรือตราสารเงินอื่นๆ
ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี จึงแนะนำให้คนเจนวายลดพฤติกรรมของมันต้องมี ไม่เกินร้อยละ 50 ควบคู่กับการวางแผนบริหารเงินออม คาดว่าจะช่วยให้มีเงินสะสมเพิ่มขึ้น ปีละ 430,000 บาท และอาจช่วยให้มีความสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่ฝันไว้ในระยะ 10-30 ปี เมื่อเทียบกับพฤติกรรมเดิมอาจใช้เวลามากกว่า 90 ปี