สถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซียหรือ LAPAN เตรียมสร้างศูนย์อวกาศบริเวณชายฝั่งตอนเหนือเกาะปาปัวนิวกินีทางด้านทิศตะวันออกของประเทศ โดยศูนย์อวกาศแห่งนี้มีขีดความสามารถในการพัฒนาจรวดและฐานปล่อยจรวดขนส่งอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก การทดสอบจรวดครั้งแรกจะมีขึ้นในปี 2024
โครงการศูนย์อวกาศของประเทศอินโดนีเซียเริ่มต้นในช่วงปี 2013 และได้ทำการเลือกพื้นที่ 3 แห่งสำหรับศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างศูนย์อวกาศ พื้นที่แรกคือ บริเวณเกาะมาลูกูทางด้านตะวันออกของประเทศ พื้นที่บริเวณเกาะอิงกาโนทางด้านตะวันตกของประเทศ และบริเวณชายฝั่งตอนเหนือบนเกาะปาปัวนิวกินี
ในปี 2018 LAPAN ได้เลือกบริเวณชายฝั่งตอนเหนือบนเกาะปาปัวนิวกินีสร้างศูนย์อวกาศ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ห่างไกลจากพื้นที่อยู่อาศัยและมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรที่พาดผ่านประเทศอินโดนีเซียซึ่งทำให้การปล่อยจรวดขนส่งอวกาศทำได้ง่ายมากขึ้น
ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียได้ทำการทดสอบจรวดในปี 2007 โดยเป็นการปล่อยจรวดขนาดเล็กมีชื่อว่า RX-250 สามารถขึ้นสู่ระดับความสูงประมาณ 53 กิโลเมตร ซึ่งยังห่างจากระดับความสูง 100 กิโลเมตรที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพรมแดนอวกาศ (Karman Line) สำหรับแผนการในอนาคตอินโดนีเซียมีเป้าหมายส่งดาวเทียมน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 2019-2020 การส่งดาวเทียมน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 2020-2019
อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอินโดนีเซียได้ก่อตั้งสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Institute of Aeronautics and Space) หรือมีชื่อเรียกว่า LAPAN ในปี 1963 ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียม รวมไปถึงเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศ สำนักงานใหญ่ของ LAPAN ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา ประกอบด้วยวิศวกรรวมไปถึงเจ้าหน้าที่กว่า 1,000 คน ในอนาคตกลุ่มประเทศอาเซียนอาจมีโครงการอวกาศเกิดขึ้นประเทศไทยพร้อมปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศครั้งใหม่แล้วหรือยัง
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBS
ที่เพจ Thai PBS Sci & Tech