ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนไทยป่วยมะเร็งปอดเพิ่มวันละ 42 คน แนะตรวจเร็วลดเสี่ยงเสียชีวิต

สังคม
25 พ.ย. 62
15:59
7,017
Logo Thai PBS
คนไทยป่วยมะเร็งปอดเพิ่มวันละ 42 คน แนะตรวจเร็วลดเสี่ยงเสียชีวิต
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เชิญชวนประชาชนร่วมต้านภัยมะเร็งปอด ระบุพบคนไทยป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน พร้อมแนะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงตรวจคัดกรองเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ชี้สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันคือเลิกสูบบุหรี่

วันนี้ (25 พ.ย.2562) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "มะเร็งปอด" เป็นโรคที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในประเทศไทย โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน และเสียชีวิตถึงวันละ 38 คน โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือ การสูบหรือรับควันบุหรี่ พันธุกรรม และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของมะเร็งปอดที่พบบ่อย ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่ ปอดติดเชื้อบ่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศ แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี ซึ่งการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาโดยให้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของโรค

ดังนั้น การตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปอด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถค้นพบผู้ป่วยระยะเริ่มต้นให้ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการเสียชีวิตลงได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันมะเร็งปอดคือ “เลิกสูบบุหรี่” รวมถึงหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง