วันนี้ (27 พ.ย.2562) คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก โดยเริ่มประชุมเวลา 10.00 น. ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 2 ต.ค. หลังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนมติเกี่ยวกับรายชื่อวัตถุอันตราย และระยะเวลาในการบังคับใช้
การประชุมในวันนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ ว่าได้มีการประชุมหารือแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ พบว่ามีข้อจำกัดในการปฏิบัติ หากจะให้การยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ มีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ รวมทั้งผลการประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วย และมีข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมาก
- การจัดการสารที่คงค้าง ซึ่งมีจำนวน 23,000 ตัน โดยประมาณ ซึ่งหากต้องทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถผลักดันให้ส่งกลับไปได้
- ผลกระทบที่จะเกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากอาจมีสารตกค้างอยู่ในผลผลิตดังกล่าว และในประเด็นนี้ยังไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการ
- ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
หลังจากมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่จะยกระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้ว พบว่า ไม่สามารถบริหารจัดการได้ หากประกาศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และยังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ และภาระที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว หลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงมีมติ ดังนี้
- ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเชตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561
- มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่หมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติและขอให้รับรองมติในที่ประชุม