ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทพ.เตรียมเปิดใช้บัตรเครดิต-เดบิต จ่ายค่าทางด่วนได้

เศรษฐกิจ
27 พ.ย. 62
17:59
3,291
Logo Thai PBS
กทพ.เตรียมเปิดใช้บัตรเครดิต-เดบิต จ่ายค่าทางด่วนได้
ผู้ว่าการฯ กทพ. เปิดเผยว่า เตรียมเปิดให้ใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่เป็นระบบ EMV แตะชำระค่าผ่านทางได้ เบื้องต้นจะนำร่องที่ทางด่วนฯ กาญจนาภิเษก

วันนี้ (27 พ.ย.2562) นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กทพ.ได้ทดสอบนำระบบบัตรเครดิตและเดบิตที่มีชิปอ่านระบบ EMV (Europay, MasterCard และ Visa) มาใช้ชำระค่าผ่านทาง ซึ่งผลการทดสอบผ่านไปได้เรียบร้อย

ซึ่งต้นปี 2563 กทพ.จะนำระบบดังกล่าวมาติดตั้งใช้งาน โดยจะติดตั้งระบบตัวอ่านที่ผู้ใช้งานสามารถนำบัตรเครดิตและบัตรเดบิตมาแตะเพื่อชำระค่าผ่านทางและผ่านด่าน คาดว่าจะเริ่มนำร่องใช้ในทางด่วนเส้นทางแรกคือ ทางด่วนฯ กาญจนาภิเษก ก่อนขยายผลไปใช้ในทางด่วนทุกสายทาง ซึ่งจะเริ่มกับธนาคารกรุงไทย ก่อนจะขยายไปใช้ได้กับบัตรเครดิตของทุกสถาบันการเงิน โดยจะติดตั้งเครื่องอ่านทั้งในช่องเก็บเงินสดและช่อง Easy Pass ทั้งหมดนี้เป็นการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาใช้เพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน

 

นอกจากนี้ กทพ.ยังเตรียมลดค่าผ่านทางจำนวน 5 บาทต่อเที่ยว ใน 6 ด่าน สำหรับผู้ใช้บัตร Easy Pass ในช่วงเวลา 04.00 - 07.00 น. ของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ประกอบด้วย ด่านฯ ดินแดง, ด่านฯ ดาวคะนอง, ด่านฯ บางนา, ด่านฯ บางจาก, ด่านฯ ประชาชื่นขาเข้า และด่านฯ อโศก 4 เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยจะเริ่มลดค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. - 6 มี.ค.2563 เพื่อเป็นการลดความแออัดบริเวณหน้าด่าน และจูงใจให้คนหันมาชำระค่าผ่านทางด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น

ขณะที่เป้าหมายในการดำเนินงานในปีนี้่ พบว่าปริมาณการขยายตัวของผู้ใช้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-2 นอกจากนี้ กทพ. ยังเตรียมศึกษาแนวทางการลงทุนทางด่วนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาวซึ่งมีแผนพัฒนาทางด่วนจำนวนมาก จึงสนใจพัฒนาทางด่วนข้ามชายแดนไทย-ลาว ในเขตภาคอีสาน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ

 

ผู้ว่าการฯ กทพ.กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาทางด่วนในรอบ 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มโครงข่ายทางด่วนประมาณ 140 กม. โดยเน้นการลงทุนขยายทางด่วนในต่างจังหวัด มูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท เช่น ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 14,000 ล้านบาท โครงการต่อขยายทางด่วนอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา 42 กม. วงเงินลงทุน 31,000 หมื่นล้านบาท โครงการต่อขยายทางด่วนสายฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 20 กม. วงเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการทางด่วนใน จ.เชียงใหม่และขอนแก่น วงเงินลงทุน 50,000-60,000 ล้านบาท ตลอดจนการต่อขยายทางด่วนบูรพาวิถี-บายพาสเส้นทางชลบุรี วงเงิน 7,000 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง