วันนี้ (28 พ.ย.2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ขยายเวลาแบน 2 สารเคมีออกไป และอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซต ว่าต้องรอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นผู้แถลงอย่างเป็นทางการ แต่จากการได้รับรายงานจาก 2 คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข คือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมวิทยาศาสต์การแพทย์ ได้มารายงานให้ทราบว่า ยังไม่มีการลงมติใด ๆ อีกทั้งมติเดิมก็ยังมีการรับรอง
ส่วนเรื่องนี้ดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นคงต้องไปถามนายสุริยะ ซึ่งโดยส่วนตัวรอฟังคำตอบนี้เช่นกัน แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยยังยึดหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ เรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน ต่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติอย่างไรก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยแต่ถ้ามติที่ประชุมออกมาอย่างไรก็เคารพ
ไม่ได้พูดคุยกับนายสุริยะ เป็นการส่วนตัว แต่ได้เจอกันนิดนึงที่สภาฯ ก็ไม่มีอะไร และขออย่าเอาเรื่องนี้ไปผูกกับการเมือง เพราะเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องของสารพิษ และเป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งนายสุริยะ แม้เป็นประธานกรรมการ แต่ก็เป็นหนึ่งเสียงในคณะกรรมการชุดนั้น เป็นผู้นำการประชุมไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเพราะรัฐมนตรีไม่มีสิทธิ์ที่จะไปชี้นำหรือไปเปลี่ยนมติอะไรได้
ขณะเดียวกันเรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา กรรมการวัตถุอันตราย ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีนั้น ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และกรมวิชาการเกษตรจะต้องทำเรื่องมาให้ที่ประชุมกรรมการลงนามแต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.นั้นไม่มีการทำเรื่องมาให้ประธานกรรมการลงนามและการประชุมดำเนินต่อไปอย่างไรไม่ทราบ
ส่วนกรณีที่กรมวิชาการเกษตร มีหนังสือตรงถึงที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดย ที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ไม่ทราบ และเรื่องถือว่าข้ามขั้นตอนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เขาก็ข้ามขั้นตอนอย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว แต่เป็นอันชัดเจนแล้วว่าเขาไม่ฟังคำสั่งของคุณมนัญญาดังนั้นจะต้องไปพูดคุยกันในพรรคภูมิใจไทยก่อน
สำหรับการคืนกรมวิชาการเกษตรไปให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ไปดูแลนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ในเมื่อควบคุมกันไม่ได้และปวดหัวกันอย่างนี้ ในเมื่อเราพยายามทำในเรื่องนี้แล้วเขาไม่ตอบสนอง ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ก็ไม่เป็นไร คงต้องคุยกันในพรรคภูมิใจไทยก่อน
ผมเป็นหัวหน้ารัฐมนตรีมนัญญา ผมก็ต้องบอกว่าจะคุมไปทำไม และไม่อยากให้ข้าราชการประจำ กับข้าราชการการเมืองมาทะเลาะกันมันไม่ดี ซึ่งเราก็ต้องเสนอไปถึงผู้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีมนัญญา ก็คือนายเฉลิมชัย ในฐานะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้าจะคืนก็ต้องทำหนังสือขอคืนด้วยเหตุผลอะไรบ้างก็ต้องเขียนลงไป เช่น ควบคุมไม่ได้ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายอย่างไรก็แล้ว แต่ก็ต้องขอคืนจากนั้นก็ต้องให้รัฐมนตรีเฉลิมชัย พิจารณาว่าจะให้ดูต่อหรือจะเปลี่ยนกรม ในเมื่อรัฐมนตรีเปลี่ยนไม่ได้ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนกรม