ไม่ว่าคะแนนจะออกมาเท่าไหร่ อย่างน้อย ๆ คงไม่ผิดจากคำพูด “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พลิกมติแบนสารเคมีเกษตร สู่การเลื่อนบังคับใช้พาราควอตกับไปเป็น 1 มิถุนายน 2563 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต
“อันดับแรก เรื่องที่จะให้บังคับใช้ 1 ธันวาคม จะเลื่อนไป 6 เดือน เพื่อให้เกษตรกรที่มีสารพิษอยู่ยังใช้ได้ และสำหรับร้านค้าต่างๆ ที่ประชุมเห็นว่า ไกลโฟเซต ไม่อันตราย ก็จะไม่แบน”
การเมืองภาพใหญ่ : การค้าระดับโลก
หากเทียบกับยาฆ่าหญ้า “เป้าใหญ่” อย่างพาราควอตแล้ว ไกลโฟเซตมักถูกพูดถึงในลำดับสุดท้าย อาจด้วยความเป็นพิษน้อยกว่า และยังมีใช้ใน 160 ประเทศ จึงผูกโยงการค้าของไทยกับนานาชาติ
องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมถึงองค์การการค้าโลก (WTO) ยึดถือมาตรฐานเกี่ยวกับอาหารและการเกษตร คือ หลักปฏิบัติเพื่อการเกษตรที่ดี (GAP), มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex)
ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังมีเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (SDGs) ให้ประชากรโลกพ้นจากความหิวโหยและได้กินอาหารที่ปลอดภัย ทั้งหมดไม่มีข้อความหรือเนื้อหาว่าต้องเลิกใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เพราะมันคือส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับงานพันธุวิศวกรรมอย่างพืชจีเอ็มโอ (GMOs) ที่รัฐบาลไทยกระทำการย้อนแย้งในตัวเองมาตลอด
เมื่อไทยประกาศมติแบน 3 สารเคมี หมายถึง การปนเปื้อนในสินค้านำเข้า ครอบครองหรือแปรรูปใด ๆ นั้นต้องเหลือ 0% จึงไม่แปลกหากทั้งบราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะถามหาข้อมูลวิทยาศาสตร์ ที่ไทยใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่างบราซิลยืนยันปริมาณไกลโฟเซตตกค้างในถั่วเหลืองที่ 10 ppb (10 ส่วนใน 1 ล้านส่วน) ซึ่งดีกว่ามาตรฐาน Codex (20 ppb) อยู่แล้ว
หากยังยึดมติแบนที่บังคับใช้รวดเร็ว ไทยคงต้องตอบคำถามจากอีกหลายประเทศ
แรงกดดันนี้อาจเหนือความคาดหมายของกลุ่มเรียกร้องให้แบนสารเคมี แม้จะกลับลำสนับสนุนข้อเสนอหอการค้าไทย ที่ผ่อนปรนให้นำเข้าสินค้าปนเปื้อนสารเพื่อการแปรรูปได้ แต่เกษตรกรไทยยังห้ามใช้ต่อไป
การเมืองภาพรอง : วิวาทะในประเทศ
วาทกรรม “นายทุน” “สารพิษอาบแผ่นดิน” “โลกสวย” “เกษตรโซเชียล” สาดใส่กัน ขณะที่นักการเมืองทั้งในและนอกรัฐบาลออกมาเล่นละครหน้าฉาก อย่าง “อนุทิน” และ “มนัญญา” ที่ขับเคลื่อนแข็งขัน เดิมพันด้วยตำแหน่งการเมือง ก่อนค่อย ๆ ลดบทบาทลง
หากย้อนไปช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแสแบน/ไม่แบน กระทบราคาขายส่งสารเคมีเกษตรปรับสูงขึ้นด้วยความกังวลว่าของจะขาดตลาด ขณะที่กลุ่มธุรกิจเปิดตัวชีวภัณฑ์อ้างกำจัดวัชพืช ส่วนภาคประชาสังคมเสนอแนวคิดใช้เครื่องจักรและ “หญ้าไม่ใช่ศัตรูพืช” เพื่อทดแทนสารเคมี
มีข้อสังเกตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่คุ้มทุนและด้อยประสิทธิภาพ สื่อมวลชนอาวุโสบางคนเอ่ยถึงตัวเลือกบางอย่าง ว่า “กำลังเตะหมูเข้าปากใครหรือไม่”
อีกประเด็นสำคัญ พืช 6 ชนิดที่เคยใช้ 3 สารได้ คืออ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล บางส่วนมีแหล่งปลูกสำคัญในภาคใต้
หากแบนไปโดยไม่มีมาตรการรองรับ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะตอบคำถามเกษตรกรในภาคใต้อย่างไร และเดิมที่เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบาย ดึงตัวเองกลับขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำ ก็จะล้มเหลวทันที
หรือนี่สะท้อน “แอกชั่น” ที่แตกต่างระหว่างรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง กับรัฐมนตรีช่วยว่าการ
การเมืองภายใน : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร มีความสำคัญมากในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะเป็นผู้เสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงมติ
แต่ปัญหาการแบน/ไม่แบน 3 สาร เราได้เห็นอดีตอธิบดี 2 คน ให้ข้อมูลสู่สาธารณะราวกับเรียนมาคนละสำนักคนละตำรา ข้าราชการบางคนก็วางตัวลำบาก บอกได้แค่ “พร้อมทำตามนโยบาย” เท่านั้น
คงไม่เป็นธรรมหากจะกล่าวหาฝ่ายใดมีผลประโยน์ทับซ้อนฝ่ายเดียว เพราะเรื่องนี้กระทบเป็นวงกว้างมาก ทั้งเกษตรกร ธุรกิจสารเคมีเกษตร ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้า ธุรกิจนำเข้าส่งออก รวมถึงผู้บริโภค
แต่ที่แน่นอนคือมีคนถูกใช้เป็น “ตัวประกัน” บนกระดานการเมืองนี้
ท่ามกลางฝุ่นตลบ ทำข้อเท็จจริงให้สับสน บิดเบี้ยวตรรกะให้วิบัติ
-พาราควอตและไกลโฟเซตเป็นสารฆ่าหญ้า การฉีดใส่ผักใบจะทำให้ผลผลิตเสียหาย
-คลอร์ไพริฟอสเป็นสารฆ่าแมลง โลกนี้มีแมลงศัตรูพืชจำนวนมาก สารกำจัดก็มีหลายชนิดมากเช่นกัน
-สารเคมีตกค้างที่พบในสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็นยาฆ่าแมลง
-สารเคมี 3 ชนิด รวมถึงชีวภัณฑ์ทางการเกษตร ระบุสรรพคุณใช้กำจัดศัตรูพืช ไม่ได้มีไว้กิน
-ทั่วโลกยอมรับมาตรฐาน Codex และหลักการ GAP ซึ่งใช้สารเคมีได้
-ประเทศต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่อชีวิตประชาชน ต้องการกินอาหารที่ปลอดภัยและคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งได้กำหนดเป็นเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย
-ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรอินทรีย์วางจำหน่าย ส่วนจะปลอดภัยหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
-ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน ส่วนทำแล้วจะยั่งยืนหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
-ประเทศไทยสามารถแบนสารเคมีหรืออะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตามใจชาติไหน หากไม่พึ่งพา ซื้อขาย หรือนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างกัน เพราะโลกนี้มีกติกาสากล
-อนาคตอาจยกเลิกการใช้เคมี ชีวะหรือฟิสิกส์ใด ๆ ได้ เมื่อมันอันตราย, ไม่คุ้มทุน หรือมีตัวเลือกใหม่ที่ดีกว่า ถ้าศึกษาอย่างรอบด้านจะช่วยลดผลกระทบต่อส่วนรวม
จาตุรงค์ แสงโชติกุล