วันนี้ (2 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค แถลงจุดยืนแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 และยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เป็นจำกัดการใช้แทน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เครือข่ายฯ เห็นว่ามติที่ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เป็นมติที่ไม่ชอบด้วย เนื่องจาก (1) ข้ออ้างการทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2652 ไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ ซึ่งการอ้างว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายเพราะสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก และคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ ที่ให้บริษัทไบเออร์ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าปรับจำนวนมหาศาลแก่ผู้ใช้และแก่รัฐ โดยจำนวนคดีที่มีการฟ้องศาลแล้วมีจำนวนมากกว่า 40,000 คดี
(2) การอ้างว่าขัดต่อความตกลงในองค์กรการค้าโลกฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในความตกลงสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) มีบทยกเว้นใน Annex B –ข้อ 6 อนุญาตให้ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วันในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบต่อสุขภาพ (3) การอ้างว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมากจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์เป็นไปโดยมิชอบ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้นำรายชื่อผู้คัดค้านจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช 17,527 รายชื่อมารวมด้วย
(4) การกล่าวอ้างเรื่องผลกระทบการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่เป็นความจริง เนื่องจากสามารถปรับค่าสารตกค้างการนำเข้าให้มีค่าต่ำสุดที่ไม่กระทบต่อการนำเข้าได้ (5) ส่วนกรณีข้ออ้างว่าไม่มีระยะเวลาเพียงพอและไม่มีวิธีการทดแทนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีระยะเวลากว่า 2 ปี 7 เดือน สำหรับดำเนินการ แต่กลับไม่เสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติและการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองพบว่าในพืชหลักหลายกลุ่ม วิธีการควบคุมวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลักของเกษตรส่วนใหญ่อยู่แล้ว
ส่วนกระบวนการลงมติ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่อ้างว่ามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เป็นกระบวนการที่มิชอบ เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันมติเดิมให้มีการแบน 3 สาร ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายกำหนดไว้ว่า “ .. การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด..” โดยที่ผ่านมา การวินิจฉัยในกรณี 3 สาร ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันของคณะกรรมการได้ใช้วิธีการลงคะแนนตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา
เสนอ 5 ข้อกรณีแบน 3 สารเคมี
1. ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว
2. เครือข่ายฯ ขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 โดยมิชอบ
3. เครือข่ายฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษในสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจและมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพของประชาชน
4. เครือข่ายฯ จะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ ภายในเดือนนี้ โดยความร่วมมือกับทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้กับนายดเวนย์ ลี จอห์นสัน ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา
5. เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยดำเนินการตามมติและข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 ต่อ 0