หากถามคนในวัย 35 ปีขึ้นไป ว่ายังจำความรู้สึกในวันที่มีซาวด์อะเบาท์ (Soundabout) เครื่องแรกเป็นของตัวเองได้หรือไม่ หลายคนคงนึกถึงความสุขที่เกิดจากอิสรภาพในการ "พกพา" เสียงเพลงติดตัวไปทุกที่
ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ในกระเป๋าจะต้องมีซาวด์อะเบาท์หรือที่ประเทศผู้ผลิตนิยมอย่างญี่ปุ่นเรียกว่า "วอล์คแมน" (Walkman) พร้อมด้วยเทปคาสเซตหลายตลับเป็นเพื่อนเดินทางคู่กาย สำหรับเครื่องเล่นเทปคาสเซตแบบพกพา หรือวอล์คแมนเครื่องแรก ถูกผลิตและวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 1979 ภายใต้ชื่อรุ่น TPS-L2 Sound about ของ sony
หลังจากพัฒนาเทคโนโลยีราว 30 ปี ก็ต้องยุติการผลิตพร้อมกับการสิ้นสุดลงของรูปแบบการฟังเพลงผ่านเทปคาสเซต เข้าสู่ยุคของซีดี มินิดิสก์ MP3 จนถึงยุคของการฟังเพลงผ่านการสตรีมมิ่ง
ซาวด์อะเบาท์รุ่น TPS-L2 ของ Sony
แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจและอยากมีซาวด์อะเบาท์ไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล ที่มองเห็นเสน่ห์ของเครื่องเล่นจากยุคแอนะล็อก (Analog)
"ตอนนี้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของผมเป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งเกิดไม่ทันยุคเทปคาสเซต แต่เห็นในภาพยนตร์และซีรี่ส์สมัยใหม่ อย่างตอนเรื่อง Guardians of the Galaxy ออกฉาย พระเอกจะฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นเทปพกพารุ่นแรก คือรุ่น TPS-L2 หลังจากนั้นก็มีคนมาตามหา อยากได้เครื่องรุ่นนี้ ทำเอาราคาดีดขึ้นไปจาก 5,000-6,000 บาท ทะลุไปถึง 16,000 บาทแล้ว"
พอดาราวัยรุ่นในซีรี่ส์ใช้ซาวด์อะเบาท์ เห็นแค่ไม่กี่วินาทีในฉาก ก็จะมีคนมาตามหา
"มนต์ธวัช เจริญการ" ช่างซ่อมและจำหน่ายเครื่องเล่นซาวด์อะเบาท์มือสองวัย 36 ปี ตอบคำถามเมื่อถูกถามว่า "ใคร" คือลูกค้าหลักของเขา
มนต์ธวัช หรือ "วัช" เคยเรียนสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง ปัจจุบันทำงานประจำเป็นนักออกแบบกราฟิก (กราฟิกดีไซน์เนอร์) แต่เพราะในวัยเด็กเขาเคยใฝ่ฝันอยากมีซาวด์อะเบาท์เป็นของตัวเองสักเครื่อง แต่ไม่สามารถซื้อได้เพราะราคาสูงเกินเอื้อม ฐานะครอบครัวไม่เอื้ออำนวย
ชดเชยความอยากในตอนเด็ก ซื้อไม่ได้เพราะมันแพงมาก ตอนนี้ผมมีเครื่องคู่ใจ 3 เครื่อง
"เครื่องแรกก็คือ เครื่องรุ่นแรกที่วางจำหน่าย เครื่องที่สองเป็นเหมือนขีดสุดของการพัฒนาเทคโนโลยี มีลูกเล่นหลายอย่าง สีของตัวเครื่องเป็นเลื่อมเหมือนปีกแมลงทับ เปลี่ยนสีได้ และอีกเครื่องเป็นเครื่องที่ผมซ่อมหลายรอบมาก แต่ก็ยังรวนบ่อยๆ เครื่องนี้เสียงดีมากๆ และคนอื่นซื้อไปก็คงใช้ไม่ได้ เพราะมักจะเกเร มีผมคนเดียวที่ใช้ได้"
จากเครื่องเล่นที่เอื้อมไม่ถึง สู่ "ช่าง" ผู้ชุบชีวิต
ปัจจุบัน "มนต์ธวัช" มีงานอดิเรกเป็นช่างซ่อมซาวด์อะเบาท์ และกลายเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ไม่แพ้รายได้หลัก โดยนำเข้าเครื่องมือสองที่ชำรุดแล้วจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็วางขายทางเฟซบุ๊กกลุ่มที่สนใจ เปิดเพจส่วนตัวชื่อ "ซาเล้ง" และวางขายตามตลาดนัด
"วัช" เริ่มต้นการเป็นช่าง ด้วยการหาซื้อเครื่องซาวด์อะเบาท์มือสองจากตลาดของของเก่าที่มาใช้ ซึ่งก็ได้เครื่องที่เสียแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้ จึงรื้อเครื่องออกมาซ่อม โดยใช้ความรู้ทางช่างอีเล็กทรอนิกส์ที่มีพื้นฐานอยู่บ้าง บวกกับสอบถามจากช่างคนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กจนซ่อมได้สำเร็จ
ตั้งแต่เด็กผมถูกแม่ว่าประจำ เพราะชอบเอาไขควงมาถอดของเล่นดีๆ อย่างพวกหุ่นยนต์ที่เพิ่งซื้อมา มันมีความสุขและชอบที่ได้รื้อได้ซ่อม
"ตอนผมซ่อมเครื่องแรกเสร็จ ผมชื่นชมมันได้สักพัก ก็มีคนเอาหูฟังราคา 3,000 บาท ที่ผมอยากได้มาขอแลก ผมจำได้ว่าซื้อมา 650 บาท สั่งซื้อสายพานมาเปลี่ยนประมาณ 200 บาท รวมแล้วไม่ถึง 1,000 บาท จึงยอมแลกกับหูฟังที่แพงกว่า"
นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาผันตัวเองมาเป็นช่างซ่อมซาวด์อะเบาท์อย่างจริงจัง โดยซื้อเครื่องเล่นมือสองตามตลาดขายของเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องในประเทศที่ชำรุดแล้วมาซ่อม
เป็นช่างซ่อม แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะซ่อมได้
"เครื่องมือสองของคนไทยจะใช้คุ้มมาก เพราะราคาเครื่องมือหนึ่งราคาสูง เครื่องที่ผมได้มาก็จะผ่านการซ่อมมาแล้วหลายรอบ สภาพยับเยิน แต่ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ หัดซ่อมไปเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก"
"แรกๆ ผมพยายามซ่อมทุกยี่ห้อ นานๆ เข้าก็เรียนรู้ว่าซ่อมทุกอย่างไม่ได้ เพราะอะไหล่และความทนทานของแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกัน จึงเลือกซ่อมเฉพาะบางยี่ห้อที่มีอะไหล่เยอะ ตัวเครื่องแข็งแรง บางยี่ห้อบางรุ่นซ่อมยังไงก็ซ่อมไม่ได้ เฟืองแตก ระบบพัง พลาสติกกรอบ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องทิ้ง"
ซาวด์อะเบาท์ที่ยังไม่ผ่านการซ่อม
เมื่อสินค้าขายดีเกินกว่าที่คาดคิด "มนต์ธวัช" จึงเริ่มลงทุนสั่งซื้อโดยการประมูลเครื่องเล่นมือสองจากญี่ปุ่น ผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของญี่ปุ่น โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยสั่งซื้อของเล่นผ่านระบบออนไลน์จากประเทศจีนมาวางขายตลาดนัดก่อนหน้านี้ ทำให้สั่งซื้อสินค้าได้ไม่ยาก
"รอบแรกลงทุนโดยแบ่งเงินออมที่เก็บไว้ให้ลูก 40,000 บาท ถ้าฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยนิดเดียว เลยลองแบ่งออกมา 10,000 บาท สั่งซื้อเครื่องเข้ามา 10 เครื่อง ตอนนั้นลงทุนประมาณ 6,000 บาท รวมค่าจัดส่งอีกนิดหน่อย สินค้าพวกนี้ญี่ปุ่นเขาตีเป็นขยะอีเล็กทรอนิกส์ที่ต้องทำลายอยู่แล้ว แม้จะเป็นขยะ แต่พอเปิดเครื่องมาแล้วสภาพเครื่องดีมากเมื่อเทียบกับของไทย"
"ของไทยซื้อมา 10 เครื่อง ซ่อมได้ 5 เครื่องก็ดีใจแล้ว เพราะข้างในเละมาก คนไทยใช้คุ้ม ของญี่ปุ่นนี่เสียนิดเสียหน่อยเขาก็ทิ้งแล้ว สภาพข้างในจึงค่อนข้างดีมาก เปิดเครื่องข้างในมาครั้งแรกผมตกใจเลย ใหม่กริ๊บ แต่ผมซ่อมเป็น ซ่อมได้ก็เพราะเครื่องเน่าๆ ของคนไทยนี่แหละ เพราะมันซ่อมยากมาก"
"พอเจอของญี่ปุ่นเลยรู้สึกว่าซ่อมไม่ยากเลย รอบแรกเอาเข้ามา 10 เครื่อง สภาพดี 8 เครื่อง บางเครื่องแค่เปลี่ยนสายพาน ทำความสะอาดระบบภายในก็ใช้ได้แล้ว เพราะเขาดูแลดี ซ่อมแล้วก็ขายทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องละ 600 บาทจนถึงพันกว่าบาท ซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะซ่อมและมีรายได้ด้วย"
ผมมีความสุขมาก เพราะอยากให้ทุกเครื่องมันฟังได้ ก็เลยอยากซ่อม พอซ่อมแล้วก็ขายได้ มีรายได้เพิ่มก็ยิ่งมีความสุข
เหนือสิ่งอื่นใด คือ การยอมรับจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือแม่ ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับงานอดิเรกของเขาในตอนแรกเริ่ม เพราะมองไปทางไหนในบ้านก็เต็มเครื่องเล่นที่ใช้งานไม่ได้ แต่เมื่อเห็นเขามีความสุข มีรายได้ มีเงินเก็บให้กับลูกเพิ่มขึ้น ต่างหันมาสนับสนุนให้เขาทำงานอดิเรกนี้ต่อไป
ซาวด์อะเบาท์มือสองที่ผ่านการซ่อม
ลูกค้า Gen Z กับเทคโนโลยียุคแอนะล็อก
ปัจจุบัน "วัช" ยังคงนำเข้าเครื่องมือสองจากประเทศญี่ปุ่น โดยเพิ่มเป็นครั้งละ 200-300 เครื่อง เพราะทักษะการซ่อมมีเพิ่มมากขึ้นแล้ว และตลาดผู้บริโภคก็มีความต้องการมาก
บางทีผมแค่ถ่ายรูปเครื่องที่สั่งมาจากทางญี่ปุ่นก่อนจะซ่อม ก็มีคนมาจองไว้แล้ว ทั้งที่ยังไม่รู้นะว่าจะซ่อมได้มั้ย อย่างวัยรุ่นเขาจะชอบรุ่นที่มันแปลกๆ เช่น รุ่นที่เป็นรูปทรงคล้ายถั่ว เรียกว่ารุ่น Bean พวกนี้จะโดนจองไว้หมด
"บางคนจะชอบรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบตัวเครื่องใหญ่ ๆ ย้อนยุคหน่อย"
ซาวด์อะเบาท์ Sony รุ่น Bean
แต่เนื่องจากลูกค้า "วัยทีน" ส่วนใหญ่เกิดไม่ทันยุคเทปคาสเซต เมื่อซื้อเครื่องไปแล้ว ก็มักจะประสบปัญหาที่คาดไม่ถึง เช่น ใส่แบตเตอรี่ไม่เป็น เพราะคุ้นเคยกับแบตเตอรี่ชนิดที่ชาร์จซ้ำได้ แต่เครื่องเล่นซาวด์อะเบาท์จะใช้แบตเตอรี่เป็นถ่านขนาด 2A-3A เป็นส่วนใหญ่ บางรายโทรกลับมาสอบถามวิธีการใส่แบตเตอรี่
"บางคนโทรมากลางดึก บอกว่าใส่ถ่านไม่เป็น ใส่อย่างไร ต้องวางสลับขั้วอย่างไร บางคนก็ใส่ตลับเทปคาสเซตไม่เป็น พยายามยัดเข้าไปที่ตัวเครื่อง แทนที่จะใส่เข้าไปที่ฝา ทำให้ปิดฝาไม่ได้"
หนักสุดคือไม่รู้ว่าต้องใส่ตลับเทปเข้าไปก่อน เปิดอยู่นานก็ไม่มีเสียง เพราะคิดว่าในเครื่องมี memory ที่เล่นได้เหมือนระบบสตรีมมิ่ง เขาไม่รู้จักตลับเทป
"เด็กยุคนี้เกิดมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ จะฟังเพลงก็ใช้นิ้วจิ้ม ไฟล์เพลงก็โหลดเอา ก็เลยไม่คุ้นเคย แต่เขาก็สนใจอยากรู้ อยากมี อยากศึกษา ยิ่งช่วงนี้เหมือนเป็นแฟชั่น เป็นกระแส ตลอดทั้งปีนี้กระแสมาแรงมาก มีแต่คนอยากได้และตามหา ผมซ่อมแทบไม่ทัน"
ปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตเครื่องซาวด์อะเบาท์ใหม่(มือหนึ่ง) ออกมาวางจำหน่ายบ้างแล้ว แต่เป็นลักษณะเครื่องเล่นพื้นฐาน สำหรับเก็บสะสมหรือใช้งานอย่างง่ายๆ และมีราคาสูง ซึ่ง "มนต์ธวัช" เห็นว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับตลาดเครื่องเล่นมือสอง เพราะหากเทียบกันแล้ว เครื่องเก่าที่เกิดขึ้นในยุคที่อุตสาหกรรมการผลิตได้พัฒนาจนถึงขีดสุดของเทคโนโลยีแล้ว ย่อมมีคุณสมบัติและเทคนิคต่างๆ ที่เหนือกว่า
"เครื่องหลายๆ รุ่นจะมีระบบตัดเสียงรบกวน หรือถ้าอยากฟังเสียงรอบข้าง ก็กดปุ่ม ก็จะได้ยินเสียงรอบข้างได้ด้วย บางรุ่นมีระบบกรอเทปอัตโนมัติ หยุดกรอเมื่อจบเพลง กลับเทปจากหน้า A ไปหน้า B แบบอัตโนมัติ หรือบันทึกเสียง อัดเสียงได้คมชัดมาก แต่ละรุ่นก็จะมีเสน่ห์แตกต่างกันไป"
"วัช" เล่าถึงวิธีการซ่อมหลักๆ ว่านอกเหนือจากการเปลี่ยนสายพานใหม่ ก็จะใช้วิธีถอดอะไหล่จากเครื่องรุ่นเดียวกันมาใส่ สลับอะไหล่ที่ชำรุดออก บางเครื่องกว่าจะซ่อมได้ ต้องถอดอะไหล่ออกมาจากเครื่องอื่น 4-5 เครื่อง เพราะต้องเลือกเอาอะไหล่ที่ดี ตัวเครื่องที่สมบูรณ์ที่สุด เอามารวมกันนักสะสม การกลับมาของเทปคาสเซต กับการเพิ่มกระแสความนิยม
นักสะสมและการกลับมาของเทปคาสเซต
นอกจากนี้ยังมี "ลูกค้า" กลุ่มนักสะสมที่เห็นว่าเครื่องเล่นเหล่านี้เป็นเหมือนชุดของงานศิลปะ และจะเลือกสะสมเป็น "ชุดกล่อง" หรือ Box set มีทั้งเครื่องเล่น คู่มือ อุปกรณ์ครบชุด บรรจุอยู่ในกล่องเหมือนกับวันแรกจำหน่าย ซึ่งหากเป็นงาน "ชุดกล่อง" ก็จะมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อย และต้องใช้เวลาครึ่งค่อนปีในการเก็บสะสม กว่าจะได้อุปกรณ์ทุกอย่างมาครบชุด
เนื่องจากตลับเทปคาสเซตกำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ศิลปินในต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและมีแฟนเพลงเหนียวแน่น จะผลิตผลงานเพลงเป็นตลับเทปคาสเซต เพื่อให้แฟนเพลงเก็บสะสม และกลายเป็นของหายาก รวมทั้งศิลปินในเมืองไทยทั้งเก่าและใหม่ ก็หันมาผลิตผลงานเป็นตลับเทปคาสเซตมากขึ้น จึงทำให้เครื่องเล่นซาวด์อะเบาท์กลับมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ผมคิดว่าตลาดเครื่องเล่นซาวด์อะเบาท์มือสอง จะอยู่ได้อีกอย่างน้อย 20 ปี จนกว่าเครื่องมือสองจากญี่ปุ่นจะหมดไป
"อะไหล่บางอย่างที่ไม่มีการผลิตใหม่ ต้องถอดจากเครื่องอื่นมาสลับก็จะไม่มี หรือหายากมากขึ้น บางเครื่องก็ต้องใช้อะไหล่จากรุ่นใกล้เคียงในกรณีหาตรงรุ่นไม่ได้"
"แต่เดี๋ยวนี้ช่างซ่อมก็มีมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นช่างที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างผมก็ซ่อมจนพังไปแล้วหลายเครื่อง กว่าจะซ่อมเป็น ใครสนใจอยากหัดซ่อม ก็จะมีกลุ่มช่างในเฟซบุ๊กที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพราะไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอน มันเป็นของเก่าไปแล้ว ไม่มีใครเขาเปิดสอน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง"
"มันมีความสุขมากเวลาเห็นเครื่องมันกลับมาหมุนอีกครั้ง การได้นั่งดูเทปกำลังหมุน ๆ อยู่ในเครื่องเล่น มันน่าหลงใหล มันเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ ยิ่งได้เปิดปกเทป นั่งอ่านเนื้อเพลงจากปกเทป มันเพลินมาก และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสื่อดิจิทัล"