วันนี้ ( 9 ธ.ค.2562) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ระบุ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย)
โดยมีการมอบรางวัล การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีผลคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท โดยประเภทของกรมหรือเทียบเท่า หน่วยงานที่ได้อันดับที่ 1 ได้แก่ กองทัพบก โดยได้คะแนน 97.96 คะแนนนั้น หากพูดถึงความโปร่งใสจริงๆแล้ว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพบก ยังมีประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และยังรอคำตอบอีกมาก เช่น
1) หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะต้องถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และประชาชนก็สามารถที่จะสืบค้น และดาวน์โหลด ดูรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ มาตรวจสอบได้ ในขณะที่กองทัพบก และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงกลาโหม จะใช้การตรวจสอบกันเอง โดยที่กระทรวงกลาโหมเปิดช่องให้สามารถปรับระบบบัญชี และระบบตรวจสอบเองได้ ตามข้อบังคับกลาโหมว่าด้วยการเงิน การคลังปี 2555 โดยสำนักงานตรวจสอบภายใน โดยที่ประชาชนหรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่อาจเข้าถึงรายงานการตรวจสอบที่กองทัพดำเนินการกันเองได้
2) รายได้งบประมาณของกองทัพบก จากระบบ CFS ของกรมบัญชีกลาง สืบค้นวันที่ 22 พ.ย.ปี 2562 จากรายงานวิเคราะห์จากสำนักงบประมาณรัฐสภา ระบุว่ารายได้นอกงบประมาณของกองทัพบกในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 12,356.5 ล้านบาท (ถ้ารวมทุกหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมที่เป็นส่วนราชการ จะมีรายได้นอกงบประมาณ 18,657.6 ล้านบาท) แต่ประชาชน ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า รายได้นอกงบประมาณดังกล่าว นั้นมีที่มาจากกิจกรรมอะไร และถูกใช้จ่ายไปกับภารกิจอะไรบ้าง
อย่างในกรณีที่ กองทัพบกได้อนุมัติการปล่อยเงินกู้จำนวน 1,200 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท RTA Entertainment จำกัด ที่กองทัพบกถือหุ้นอยู่ 50% และอีก 50% ถือหุ้นโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั้งที่บริษัทนี้มีทุนจดจัดตั้งเพียง 10 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งบริษัท RTA ได้นำเงินกู้ดังกล่าว ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ขาดทุนจากการลงทุน ในประเด็นที่ชวนสงสัยอย่างในกรณีนี้ ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใด ๆ จากกองทัพบก
ปัจจุบันสังคมทราบเป็นอย่างดีว่า กองทัพบก มีแหล่งรายได้นอกงบประมาณต่าง ๆ อยู่มากมายหลายแหล่ง อาทิ โครงข่ายโทรทัศน์คลื่นวิทยุสัมปทานช่อง 7 สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ สโมสร และบ้านพักรับรองต่าง ๆ ซึ่งประชาชนไม่สามารถที่จะตรวจสอบรายละเอียดได้เลยว่ารายละเอียดของสัญญาต่าง ๆ เป็นอย่างไร มีการประมูล และจัดซื้อจัดจ้าง ที่โปร่งใส เป็นธรรมหรือไม่
ปกติแล้ว เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะต้องนำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่ในกรณีของกองทัพบก รวมทั้งอีกหลายหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณ กลับไม่ต้องนำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง โดยอาศัยข้อยกเว้น ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 61 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐปี 2561 ซึงเปิดช่องให้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่นได้ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชน หรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อาจตรวจสอบเงินนอกงบประมาณของกองทัพบกได้
ข้อสังเกตต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นที่สงสัยว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนนและกระบวนการในการให้คะแนน และคณะกรรมการผู้ลงคะแนน ตลอดจนการพิจารณาการให้รางวัล นั้นได้นำเอาประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ จากประชาชนเหล่านี้ ไปพิจารณาด้วยหรือไม่ หรือคะแนนต่าง ๆ นั้นมาจากการให้หน่วยงานประเมินตนเอง ซึ่งคณะกรรมการผู้ประเมินคะแนนและพิจารณาให้รางวัล ควรออกมาชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ