เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาวิชาการ “ด้นเพลงชีวิตในยุควิกฤตข้าวและชาวนาไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรเครือข่ายร่วมจัดเทศกาลข้าวใหม่ มีการเปิดรายงานการวิจัยสถานการณ์ชาวนาไทยหลังยกเลิกนโยบายจำนำข้าว ความท้าทายของนโยบายส่งเสริมชาวนาไทย และโอกาสของการทำนาในยุค 4.0
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษาพบว่า สถานการณ์การทำนาหลังการยกเลิกนโยบายจำนำข้าว เกษตรกรมีต้นทุนการทำนาสูงขึ้นร้อยละ 48.2 ต้นทุนการทำนาเฉลี่ยไร่ละ 5,000 - 5,500 บาท ขายได้ตันละ 7,500 บาท (ความชื้นปกติ ร้อยละ 15) ราคาข้าวเกี่ยวสดตันละ 6,500 บาท (ความชื้นร้อยละ 20 - 30) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์การลงทุนและผลตอบแทนจากนา ในครอบครัวชาวนากลุ่มตัวอย่าง ที่มีที่ดินของตนเอง 20 ไร่ และทำนาปีละ 2 ครั้ง พบว่า สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,333 บาทต่อเดือนเท่านั้น ส่งผลให้ชาวนา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 และร้อยละ 89.5 เป็นหนี้ในระบบ รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่งผลต่อความมั่นคงและความเป็นอยู่ในชีวิตของชาวนา
รัฐชดเชยน้ำท่วมไม่ครอบคลุมวิถีชาวนา
ด้าน ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ระบุถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำนา อย่างโครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่มหน่วงน้ำบางระกำ หรือ “บางระกำโมเดล 60” ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก และสุโขทัย รวม 265,000 ไร่ รองรับน้ำหลากจากแม่น้ำยม ไม่ให้เอ่อท่วมเขตชุมชนในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้าน เมื่อมีโครงการนี้ ทำให้ชาวบ้านมีช่วงเวลาในการทำนาน้อยลงเพราะถูกน้ำท่วม แต่ไม่มีค่าชดเชยความเสี่ยงใด ๆ จากภาครัฐ มีเพียงการชดใช้เป็นพันธุ์ข้าว 5 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อนำมาปลูกก็พบว่า เป็นข้าวดีดข้าวเด้งขายไม่ได้ราคา ส่วนแนวทางแก้ปัญหาที่ให้ชาวนาหาปลาแทนก็พบว่าปลาที่ได้เป็นปลาตัวเล็ก เพราะน้ำหลากปลาโตไม่ทัน รวมถึงโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการลานตากข้าว ก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะชาวนาไม่เอาข้าวมาตากกลัวข้าวหาย
แนะ ชาวนาต้องวางแผน - รัฐต้องวางฐาน ศก.ใหม่
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองชาติ ระบุว่า หากชาวนายังคงทำนาอยู่แบบเดิม คงจะล้มละลาย เพราะกระบวนการผลิตและกระบวนการขายที่ไม่เอื้อต่อการสร้างรายได้ จึงต้องมองการตลาดใหม่ ผลิตข้าวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าว่าต้องการอะไร และขายที่ไหนให้ใคร เช่น โรงแรมต้องการข้าวอินทรีย์เพื่อปรุงให้ลูกค้า ก็ผลิตข้าวอินทรีย์ขายให้โรงแรม ซึ่งชาวนาสามารถรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็ง หาความเฉพาะของตลาด มีการส่งเสริมการขายผ่านอินเทอร์เน็ต ทางออนไลน์ นโยบายของรัฐก็ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และต้องคิดเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่
ด้านนายสุนทร คมคาย ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี บอกเล่าตัวอย่างของการผลิตข้าวยุคใหม่ ที่ชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง จัดทำโครงการสู่พันธุ์ข้าว ประชาสัมพันธ์เรื่องราววัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน ผ่านการจัดงานทอดผ้าป่าซื้อพื้นที่นาให้โรงเรียนเขาไม้แก้ว เพื่อใช้พื้นที่จัดกิจกรรมดำนาเกี่ยวข้าวที่โรงเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำนา ผลผลิตที่ได้ในชุมชนส่งขายให้กับบริษัทเอกชน และโรงพยาบาลที่ต้องการ ทั้งยังมีการทำแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ในหลายช่องทาง
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว ยังมองว่า มีความจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีความรู้หลากหลาย ปรับตัวเองเพื่อการอยู่รอด และมีการสร้างตลาดข้าวอินทรีย์ ขายออนไลน์ด้วย วิธีการนี้ทำให้ชาวนาที่เขาไม้แก้วมีรายได้ดีและไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าวหรือตลาดค้าข้าวที่ตกต่ำ
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับข้าวใหม่ ภายในงาน "เทศกาลข้าวใหม่ ตอน มหัศจรรย์ข้าวไทย" ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วันที่ 21-22 ธ.ค. นี้ โดยผู้สนใจ สามารถเดินทางร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น.
รายละเอียด "เทศกาลข้าวใหม่" ตอน "มหัศจรรย์ข้าวไทย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เทศกาลข้าวใหม่" ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าวไทย
ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าว ช่วยกู้วิกฤตข้าว - ชาวนาไทย