วันนี้ (11 ธ.ค. 2562) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมว่า หลังจากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการให้ลดค่าโดยสารตลอดทั้งวัน ไม่มีช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (ออฟพีค) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์แท้จริง
ที่ประชุมบอร์ด รฟม.จึงปรับแผนลดค่าโดยสารใหม่ เป็นการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดทั้งวัน เหลือ 20 บาทตลอดสาย จากเดิมราคาสูงสุด 42 บาท ลดลง 22 บาท คิดเป็นร้อยละ 52 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2561 - 31 มี.ค.2563 โดยใช้ได้ทั้งบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token)
สำหรับการปรับลดราคาสายสีม่วงดังกล่าว จากการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่า จะทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.8 ของผู้โดยสารสายสีม่วงที่ปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 60,000 คน
ขณะที่ผลการลดราคาดังกล่าว จากการประเมินตัวเลขเบื้องต้นจะทำให้รายได้ รฟม. ที่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) จะต้องเก็บและนำส่งให้ รฟม.ลดลงเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อชั่งน้ำหนักผลดีจากตัวเลขการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่าการปรับลดราคาครั้งนี้จะส่งผลให้มีประโยชน์ด้านคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 38 ล้านบาท 5 ด้าน คือ ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนตัว ลดเวลาเดินทาง ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม และความสุขของประชาชนผู้เดินทาง
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการมีมติวันนี้ จะนำเสนอผลประชุมให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา ครม.วันที่ 17 ธ.ค.นี้ เนื่องจากการลดรายได้ดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยการเงินการคลังของกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ด้วย
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่ารายได้ที่ลดลงเดือนละ 15 ล้านบาทนั้น รฟม.จะนำรายได้ที่ได้รับส่วนแบ่งค่าสัมปทานและรายได้เชิงพาณิชย์จาก BEM นำมาชดเชย ซึ่งปกติจะได้รับปีละ 3,500 ล้านบาท
หลังจากบอร์ดมีมติปรับลดราคาสายสีม่วงแล้ว สายสีน้ำเงินจะยังมีตั๋วเที่ยวต่อเดือนตามที่บอร์ดมีมติอนุมัติเมื่อครั้งที่ผ่านมาหรือไม่นั้น เมื่อสีม่วงปรับลดราคา ทำให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีม่วงและสีน้ำเงินต้องเสียค่าโดยสารสูงสุด 48 บาท รฟม.จะรอดูผลการอนุมัติและความเห็นต่าง ๆ จาก ครม.อีกครั้ง รวมทั้งความเห็นของคู่สัญญาสัมปทาน หรือ BEM ว่าเห็นด้วยกับแนวทางให้มีตั๋วเที่ยวต่อหรือไม่ หากเห็นด้วยก็จะพิจารณาต่อไปในอนาคต ที่สำคัญรถไฟฟ้าสีน้ำเงินปัจจุบันมีการเปิดส่วนต่อขยายถึงสถานีสิรินธร ซึ่ง รฟม.จะติดตามตัวเลขผู้โดยสารว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารสีน้ำเงินต่อไป