เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.2562) กรุงเทพมหานครร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางออกแบบพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่ว่างบริเวณโดยรอบถนนสีลม ให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในนาม City Lab Silom ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประชาชนในย่านสีลม ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ศึกษาพฤติกรรมการใช้สอยของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
โดยนำเมืองมาเป็นพื้นที่ทดลองและค้นหาปัญหา นำไปสู่การประเมินผลและการออกแบบ สำหรับบริเวณที่จะดำเนินการปรับภูมิทัศน์ย่านสีลม 8 จุด อาทิ อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ อาคารธนาคารกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
เตรียมยึด "สีลมโมเดล" ดำเนินการในพื้นที่อื่น
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หากดำเนินแล้วประสบความสำเร็จ จะยึดถือรูปแบบสีลมโมเดล เพื่อดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะ
ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอโครงการเติมสีให้สีลมว่าต้องการให้พื้นที่อาคาร ทางเท้า และจุดเปลี่ยนถ่ายการคมนาคมเป็นสีใดบ้าง รวมทั้งต้องปรับภูมิทัศน์ป้ายรถประจำทางและทางม้าลาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและการปรับปรุงทางลาดเชื่อมต่อทางเดินเท้ากับทางม้าลายให้มีระดับที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์
สำหรับการรวบรวมข้อเสนอโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านสีลม ผ่านกระบวนการทดลองห้องปฏิบัติการเมืองและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้วมีกำหนดเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในเดือน ธ.ค.นี้