ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรีนพีซ เปิดรายงาน “การค้าแรงงานทาสกลางทะเล”

ต่างประเทศ
13 ธ.ค. 62
15:20
1,320
Logo Thai PBS
กรีนพีซ เปิดรายงาน “การค้าแรงงานทาสกลางทะเล”
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดรายงาน “การค้าแรงงานทาสกลางทะเล” ในอุตสาหกรรมประมง พบเรือประมงต่างชาติ 13 ลำ ที่ทำประมงในบริเวณทะเลนอกน่านน้ำละเมิดสิทธิแรงงานประมง โดยส่วนใหญ่พัวพันกับขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดรายงาน “การค้าแรงงานทาสกลางทะเล” ในอุตสาหกรรมประมง โดยพบเรือประมงต่างชาติ 13 ลำ ที่ทำประมงในบริเวณทะเลนอกน่านน้ำละเมิดสิทธิแรงงานประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัวพันกับขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ หรือที่รู้จักกันว่าคือ “แรงงานทาส” ในโลกยุคใหม่ 

จากรายงาน “เส้นทางการบังคับใช้แรงงานของลูกเรือประมงในโลกยุคใหม่” โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยสภาพความเป็นอยู่และการทำงานของลูกเรือประมงอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ทำงานอยู่บนเรือประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสาร ผ่านการสัมภาษณ์แรงงาน พบมีเรื่องร้องเรียนรวม 34 กรณี ที่แรงงานถูกบังคับให้ต้องทำงานเกินเวลา ถูกทารุณกรรม และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ภาพ :  © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace


นายซี อายุ 24 ปี อดีตลูกเรือบนเรือเบ็ดราวสัญชาติไต้หวันชื่อ จงต้า 2 (Zhong Da 2) ให้สัมภาษณ์เมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาว่า

ผมถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้หยุดพักหรือกินอาหารเลย ผมเหนื่อยมากจนทำงานต่อไม่ไหว พอเห็นคนอื่นพัก เลยหยุดพักบ้างและไปที่ครัว แต่ก็ไม่มีอาหารเหลือแล้ว ไต้ก๋งเรือถามว่า “นายมีปัญหาอะไร” ผมเลยบอกไปว่า ไม่รู้เหรอว่าผมต้องพัก ต้องกินข้าว ผมไม่ได้ทำผิดอะไร

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ติดต่อตัวแทนของเรือจงต้า 2 และเรือประมงลำอื่นๆ ที่ปรากฎอยู่ในรายงานเท่าที่มีข้อมูลติดต่อ แต่ตัวแทนของเรือจงต้า 2 ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว

รายงานยังเปิดเผยให้เห็นขบวนการจัดหางานผิดกฎหมายซึ่งล่อลวงลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียจำนวนมาก ทั้งนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย Serikat Buruh Migran Indonesia (SBMI) ในการวิเคราะห์สัญญา หนังสือค้ำประกัน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace


ข้อมูลจากงานสืบสวนการปฏิบัติต่อแรงงานที่ผิดกฎหมาย พบลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียคนหนึ่ง ซึ่งทำงานบนเรือสัญชาติไต้หวันชื่อ ชินจุน 12 (Chin Chun 12) ระบุว่า ไม่ได้รับค่าจ้างในช่วง 6 เดือน ในขณะที่ลูกเรืออินโดนีเซียอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำงานบนเรือ เลียนยีฉิง 12 (Lien Yi Hsing 12) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 4 เดือน ได้รับค่าแรงเพียง 50 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,500 บาท) อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเรือ ชินจุน 12 และ เลียนยีฉิง 12 ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่เลียนยีฉิง 12 ออกมาตอบโต้และปฏิเสธข้อกล่าวหา

อารีฟชาห์ นาสุชัน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ระบุว่า แม้ปัจจุบันกรีนพีซจะมีนโยบายระดับชาติในการปกป้องแรงงานข้ามชาติและมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการการประมงหลายฉบับ แต่ก็ไม่อาจยับยั้งการเติบโตของขบวนการค้าทาสสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมประมงได้

อารีฟชาห์ นาสุชัน ระบุอีกว่า ธุรกิจลักษณะนี้ไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงานประมงอย่างเร่งด่วน เพราะความเจ็บปวดของลูกเรือประมงเพียงหนึ่งคนก็มากพอแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องมีการบังคับใช้กฎหมายระดับชาติอย่างเต็มรูปแบบเพื่อปกป้องสิทธิของลูกเรือประมง หรือหากยังไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุม ก็จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภาพ : © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace


ทั้งนี้ การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 (United Nations Framework Convention on Climate Change: COP25) ในปีนี้ หัวข้อหลักของการประชุมคือการให้ความสำคัญกับมหาสมุทร จนได้รับการขนานนามว่า “คอปเพื่อผืนน้ำสีฟ้า” (Blue COP) และในวาระที่วันสิทธิมนุษยชนสากล วันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย แก้ไขปัญหาการทำประมงเกินขนาด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และการบังคับใช้แรงงานในท้องทะเล โดยหนึ่งในข้อเสนอหลักของรายงาน คือ เรียกร้องให้ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์รับรองสัตยาบันและดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (C-188) เพื่อปกป้องพลเมืองของตนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือประมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง