วันนี้ (13 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศรับซื้อของเก่าที่ร้านแสงดาว เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นไปอย่างเงียบเหงานับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และซาเล้งขาประจำเริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน เนื่องจากประสบปัญหาราคาขยะที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจากการสังเกตรถซาเล้งที่นำขยะมาขายที่ร้าน พบว่าปริมาณขยะบนรถซาเล้งไม่ได้น้อยลง แต่ละคันบรรทุกขยะมาขายแน่นรถ เช่นเดียวกับขยะบนรถซาเล้งของ "ป้าบัว" นางประมูลศรี บัวขำ คนเก็บของเก่า หากมองด้วยสายตาน่าจะได้เงินประมาณ 500 บาท หรือเกือบ 1,000 บาท แต่กลับสวนทางกับความจริง
ราคาที่ต่ำลงทำให้ซาเล้งเลิกเก็บขยะบางชนิด เช่น หนังสือ จากกิโลกรัมละ 3 บาท เหลือเพียง 50 สตางค์เท่านั้น ยิ่งทำให้กำไรต่อเที่ยวเหลือไม่ถึง 100 บาท นับว่าเป็นการตัดวงจรคนคัดแยกขยะ ขณะที่ร้านรับซื้อของเก่ายอมรับว่าขยะรีไซเคิลหดหายไปวันละ 1-2 ตัน หลายร้านปิดกิจการไปแล้ว เพราะแบกรับภาระไม่ได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ร้านแสงดาว ที่คาดว่าอาจต้องเลิกจ้างคนงานภายในสิ้นปีนี้
คาดว่าราคาขยะตกต่ำจากนำเข้าขยะรีไซเคิลมากเกินไป
ปัญหาที่ทำให้ราคาตกต่ำ ร้านรับซื้อของเก่าเชื่อว่าเพราะการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศมากเกินไป สอดคล้องกับผลงานวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ไทยนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศกว่า 80 ประเทศ หรือสูงสุดในอาเซียน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 7,000 เปอร์เซ็นต์ มากสุดประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 30 ฮ่องกง ร้อยละ 18 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 16 ส่วนออสเตรเลีย และจีน ร้อยละ 8
สาเหตุที่ประเทศพัฒนาเหล่านี้เลือกไทยเป็นแหล่งกำจัดขยะ หลังจีนแบนนำเข้าขยะรีไซเคิล ภาคประชาชนชี้ว่าเป็นเพราะนโยบายของไทยเปิดนำเข้าขยะเสรีมากเกินไป นับว่าเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข เพราะไม่ใช่แค่กระทบกับคนเล็กน้อย แต่นั่นหมายถึงไทยจะต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง