ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสศ. ชวนมอบโอกาสทางการศึกษา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

สังคม
15 ธ.ค. 62
22:50
608
Logo Thai PBS
กสศ. ชวนมอบโอกาสทางการศึกษา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
กสศ.จับมือศิลปินนักแสดง เปิดตัวโครงการ "ล้านพลังคนไทย มอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ" ชวนคนไทยบริจาคเงินสมทบกองทุนเสมอภาคฯ ช่วยเด็กยากจน-ด้อยโอกาส ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานหน้า ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์ กทม. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้เปิดตัวโครงการ “ล้านพลังคนไทย มอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ” ชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินสมทบ เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่มีความเสี่ยงหลุดออกระบบการศึกษาเพราะความยากจน โดยมีศิลปินนักแสดงร่วมรณรงค์ อาทิ ป๊อก ภัสสรกรณ์ และ มาร์กี้ ราศรี จิราธิวัฒน์หนึ่ง จักรวาร และน้องมินมิน ลูกสาว จัดคอนเสิร์ตเปิดหมวกมอบโอกาสทางการศึกษา นำโดย ลุลา ซีซั่นไฟว์ มาเรียมบีไฟว์ และ รุจเดอะสตาร์


เด็กยากจน ด้อยโอกาส จำเป็นเร่งด่วน รอไม่ได้

มีการเปิดเผยข้อมูลโดย กสศ. ระบุว่า ครอบครัวเด็กยากจนที่สุดในไทย มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเพียงเดือนละ 462 บาทต่อคน และเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาทุกวัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการติดตามเด็กยากจนอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เรียกสั้น ๆ ว่า iSEE (Information System for Equitable Education) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ กสศ. ที่สามารถรายงานผลและติดตามเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รายบุคคล การที่พบว่าครอบครัวของนักเรียนที่ยากจนที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเพียง 462 บาทต่อคนต่อเดือน นั่นหมายความว่าครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ จะมีรายได้เพียง 5,544 บาทต่อปี หรือราว 15 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น

เด็กกลุ่มนี้กว่า 2 แสนคน เป็นเด็กกำพร้าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และกว่า 19,000 คน มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์การเจริญเติบโต หรือ อยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องติดตามสภาวะทุพโภชนาการ (ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม) อย่างใกล้ชิด จากการสำรวจยังพบว่า ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งไม่ได้รับประทานอาหารเช้า สาเหตุมาจากฐานะยากจน และต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนไปโรงเรียน

เด็กกลุ่มนี้ ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน มีข้อเท็จจริงชี้ชัดว่า หากพวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและเพียงพอ มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตกอยู่วงจรความยากจนข้ามชั่วคน

   อ่านเพิ่ม : ตัดงบฯ กองทุนเสมอภาค ส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น

 

 

ตัดงบฯ กระทบเด็ก

กลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ กสศ. มีมากกว่า 4 ล้านคน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ประเมินว่า การดูแลเด็กกลุ่มนี้โดยรัฐบาล จำเป็นต้องใช้งบประมาณ ประมาณปีละ 25,000 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่อง 5 ปี ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพียง 2,537 ล้านบาท หรือเพียง 10% ของงบประมาณที่ควรได้รับตามภารกิจ

กรณีนี้ ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เดินหน้าช่วยเหลือบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กยากจนด้อยโอกาส ได้ 7 แสนคน ผ่านโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค คนละ 1,600 บาท เงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ขณะที่มีเด็กเยาวชนอายุระหว่าง 6-14 ปี ที่อยู่ชั้น ป.1-ม.3 อยู่นอกระบบการศึกษามากถึง 430,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี หากเข้าช่วยเหลือไม่ทัน

เวลานี้ สภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เราก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่า กรรมาธิการที่พิจารณาจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ที่เคยปรับลดงบประมาณ ก็อาจจะให้กลับมา

มอบโอกาสการศึกษา ลดหย่อนภาษี 2 เท่า

กสศ. ยอมรับว่า งบประมาณแผ่นดินที่จำกัด อาจไม่สามารถช่วยเด็กทุกคนได้ทันเวลา การสนับสนุนเพิ่มเติมจากประชาชนคนไทย จะเป็นพลังสำคัญในการทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มลดลงได้ ด้วยการร่วมบริจาคกับ กสศ. สมทบทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนที่กำลังเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากว่า 2 ล้านคน ซึ่งผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษี ได้ 2 เท่า โดยเปิดช่องทางให้เข้าไปบริจาคที่ www.eef.or.th/donate หรือ โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 172-0-30021-6 ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค


ด้านศิลปินและนักแสดงที่มาร่วมกิจกรรม อย่าง ครอบครัวจิราธิวัฒน์ ทั้ง ป๊อก ภัสสรกรณ์ และ มาร์กี้ ราศรี จิราธิวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างในการร่วมบริจาคกับ กสศ. คือ มั่นใจได้ว่ามีระบบ iSEE เป็นเครื่องมือช่วยชี้เป้าความช่วยเหลือไปยังเด็ก ๆ ที่เดือดร้อนได้เลย จึงมั่นใจได้ว่าความช่วยเหลือจะไปถึงเด็กอย่างแน่นอน เพราะสามารถติดตามผลลัพธ์การช่วยเหลือได้ตลอด

ทราบมาว่า มีเด็กบางคนต้องเดินเท้าเป็น 20 กม. เพื่อไปโรงเรียน สำหรับเราเดินแค่วันสองวันก็รู้สึกท้อแล้ว แต่เขายังสู้ และยังอยากที่จะไปเรียน เราเห็นความเป็นนักสู้ของเขา เลยรู้สึกว่าเขาสู้มาขนาดนี้แล้ว ขาดแค่คนคอยผลักดัน คอยยื่นมือเข้าไปช่วย แค่อีกนิดเดียวเอง


ขณะที่ศิลปินมากความสามารถ อย่าง หนึ่ง จักรวาร เสาธงยุติธรรม ที่พาลูกสาว น้องมินมิน มาร่วมร้องเพลงเปิดหมวก ชวนประชาชนย่านสยามสแควร์ ร่วมบริจาคสมทบทุน กสศ. และร่วมเล่นดนตรีกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จากโรงเรียนเขาย้อยวิทยา จ.เพชรบุรี ระบุว่า
ในฐานะที่เขาเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่เติบโตมาจากสลัม คิดว่าชีวิตนี้ ไม่มีทางได้เป็นนักดนตรีตามความฝัน แต่คำพูดของผู้เป็นพ่อที่สอนให้เป็นนักสู้ ทำให้เขาฝึกเล่นดนตรีด้วยตัวเอง และได้โอกาสจากวัดที่สนับสนุนข้าวปลาอาหารให้ได้เติบโต จนได้เป็นสุดยอดโปรดิวเซอร์คนหนึ่ง เชื่อในเรื่อง "การศึกษาเปลี่ยนชีวิต"

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นเรื่องจริง อยากให้ทุกคนให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้เรียน เพื่อจะได้มีโอกาสเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง และครอบครัว 

 

คืนเด็ก "กลับห้องเรียน" คุ้มเกินคุ้ม

มีข้อมูลระบุชัดว่า การออกจากระบบการศึกษาของเด็กไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวเด็กเอง และครอบครัว แต่ยังเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น โอกาสที่สูญเสียไปทางการศึกษาของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ก็คือโอกาสที่สูญเสียไปของประเทศเช่นกัน

อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Dr.Nicholas Burnett เคยประเมินว่า ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยมากกว่าปีละ 1-3 % ของ GDP หากมองในมิตินี้ การลดความเสี่ยงและรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษา จึงไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสในอนาคตของเด็ก ๆ แต่ยังสร้างผลกระทบทางบวกในการพัฒนาประเทศในภาพรวม

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้อย่าง Professor Abhijit Banerjee และ Professor Esther Duflo ได้สรุปบทเรียนจากการศึกษา พัฒนาการทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ จากทุกมุมโลกมาตลอดหลายทศวรรษไว้ใน Foreign Affairs ฉบับล่าสุดว่า แนวทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาประเทศ อาจมิใช่การมุ่งอัดฉีดเงินผ่านการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คือการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทุนในการศึกษาและการสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง