ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา ที่ดินรัชดาฯ ปลูกมะนาว หวั่นเลี่ยงภาษี

เศรษฐกิจ
16 ธ.ค. 62
19:43
5,022
Logo Thai PBS
จับตา ที่ดินรัชดาฯ ปลูกมะนาว หวั่นเลี่ยงภาษี
ช่วงเวลาก่อนที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ดินใจกลางถนนรัชดาฯ กว่า 20 ไร่ ราคาประเมิน 400,000 บาทต่อตารางวา ใช้เป็นพื้นที่ปลูกมะนาว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าภาษีที่ดินไม่ช่วยให้การกระจุกตัวการถือครองนั้นน้อยลง

วันที่ 16 ธ.ค.2562 นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงที่ดินบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ศูนย์วัฒนธรรมฯ ว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยกให้เป็นทำเลทอง อันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะตั้งอยู่บนจุดเชื่อมโครงข่ายสถานีรถไฟฟ้าสำคัญ ซึ่งราคาเสนอขายประมาณตารางวาละ 1,400,000-1,500,000 บาท

 

 

จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่าคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างย่านรัชดาฯ ระบุว่า ที่ดินรกร้างแปลงใหญ่แห่งหนึ่งติดกับถนนใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เคยเป็นที่ดินรกร้าง ซึ่งนานๆ ครั้ง จะเห็นผู้ดูแลพื้นที่ แต่เมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว พบว่ามีรถบรรทุก 6 ล้อ ขนบ่อซีเมนส์ พร้อมกับต้นมะนาวจำนวนมากเข้ามาปลูก

 

เจ้าของที่ดินยังไม่แจ้งการทำประโยชน์

นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว ยังไม่ได้แจ้งการทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เข้ามาสอบถามถึงรายละเอียดกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรกับที่ดินว่างเปล่า แต่ต้องรอให้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 8 ฉบับแล้วเสร็จ จึงจะสรุปได้ เนื่องจากต้องรอหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดว่าการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นอย่างไร

 

นายอนุชิต พิพิธกุล

นายอนุชิต พิพิธกุล

นายอนุชิต พิพิธกุล

ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวมีขนาดกว่า 20 ไร่เศษ หากคำนวณในราคาประเมินตารางวาละ 400,000 บาท จะมีราคาไร่ละ 160 ล้านบาทและทั้งหมด 20 ไร่ จะมีมูลค่า 3,200 ล้านบาท หากเสียภาษีกรณีประกอบเกษตรกรรม มีอัตรา 0.10% หรือล้านละ 1,000 บาท จะเท่ากับ 3,200,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเสียภาษี กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ว่างเปล่า จะเสียภาษีอัตรา 0.60% หรือล้านละ 6,000 บาท เท่ากับ 19,200,000 บาทต่อปี

 

"ภาษีที่ดิน" ไม่ช่วยลดถือครองกระจุกตัว

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดช่องโหว่ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ สามารถนำเอาที่ดินไปทำเกษตรกรได้ และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ตอกย้ำว่าการออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ช่วยลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ซ้ำยังกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินประเภทรกร้างว่างเปล่าในอัตราต่ำเกินไป และบิดเบือนภาระภาษี โดยใช้ราคาประเมินที่ดิน ทั้งที่ควรใช้ราคาตลาด พร้อมยกกรณีศึกษาในต่างประเทศ กำหนดอัตราภาษีที่ดินรกร้าง ร้อยละ 1-2 แต่ไทยกำหนดอัตราจัดเก็บเพียงร้อยละ 0.3 ของราคาประเมิน

 

ชี้ อปท.อาจประสบปัญหาจัดเก็บภาษีที่ดิน

ขณะที่นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า แม้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดกรอบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนิยามการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อคำนวณภาระภาษี และเรียกเก็บตามกฎหมาย แต่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร อาจประสบปัญหาการจัดเก็บภาษีจริง เพราะต้องลงพื้นที่สำรวจการใช้ประโยชน์จริง หรือตรวจสอบซ้ำกับการใช้มิเตอร์น้ำประปาและไฟฟ้า เพื่อลดโอกาสการหลบเลี่ยงภาษี

 

นายยุทธนา หยิมการุณ

นายยุทธนา หยิมการุณ

นายยุทธนา หยิมการุณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง