ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เงื่อนไข! ใครเข้าข่ายได้-ไม่ได้ รับพระราชทานอภัยโทษ

อาชญากรรม
17 ธ.ค. 62
13:00
95,307
Logo Thai PBS
เงื่อนไข! ใครเข้าข่ายได้-ไม่ได้ รับพระราชทานอภัยโทษ
จากกรณีสังคมตั้งคำถามหลัง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมายอมรับถึงความผิดพลาดกรณีลดโทษและปล่อย นายสมคิด พุ่มพวง อดีตผู้ต้องขัง คดีฆ่าผู้อื่นฯ และลักทรัพย์ รวม 5 คดี ซึ่งทุกคดีศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

โดยนายสมคิดถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2548 ซึ่งขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี เรียบร้อย จนได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมและได้รับการลดโทษตามกระบวนการทางกฎหมายเรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งพ้นโทษ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2562 ก่อนจะกลับมาก่อเหตุฆาตกรรมซ้ำอีกครั้ง ใน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 ซึ่ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2562 และให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

สำหรับการ ปล่อย หรือ ลดโทษ จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้พิพากษา, อัยการ โดยตรวจสอบตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ก่อนส่งเรื่องให้ศาลออกหมายปล่อย ภายใน 120 วัน นับจาก พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับ สรุปได้ดังนี้

(อ่านรายละเอียด : พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562)

1. ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (มาตรา 5)

(1) ผู้ต้องกักขัง

(2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

(3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทน โทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

2. นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (มาตรา 6)

(1) ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

(2) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้ง 2 ข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะ อันเห็นได้ชัด

(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ค) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

(ง) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ ตามกำหนดโทษ

(จ) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

(ฉ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ

(ช) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

 

3. นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 7)

(1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2

ชั้นดีมาก 1 ใน 3

ชั้นดี 1 ใน 4

ชั้นกลาง 1 ใน 5

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1)

(3) ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วย หรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

 

4. นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 8)

(1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3

ชั้นดีมาก 1 ใน 4

ชั้นดี 1 ใน 5

ชั้นกลาง 1 ใน 6

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1)

 

5. นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่เกิน 8 ปี ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ (มาตรา 9)

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5

ชั้นดีมาก 1 ใน 6

ชั้นดี 1 ใน 7

ชั้นกลาง 1 ใน 8

6. นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 10)

(1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปีแล้วให้ลดโทษ ตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6

ชั้นดีมาก 1 ใน 7

ชั้นดี 1 ใน 8

ชั้นกลาง 1 ใน 9

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษ ต่อจากคดีอื่นนั้น

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1)

 

7. นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำ ในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ใน 5 จากกำหนดโทษที่ได้รับการพระราชทานลดโทษลงแล้วตามพระราชกฤษฎีกานี้ (มาตรา 11)

8. นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1 ใน 6 (มาตรา 12)

9. นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ (มาตรา 13)

(1) นักโทษเด็ดขาดที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

(2) ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออก เพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมาย ว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

(3) ผู้กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

(4) นักโทษเด็ดขาดชั้นเลวหรือชั้นเลวมาก

(5) นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา 276 วรรคสาม มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 280 มาตรา 285 และมาตรา 343 แห่งประมวล กฎหมายอาญา

 

10. นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีกหนึ่งปี (มาตรา 14)

11. นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 15)

12. นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และนักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้ จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์หรือ กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่โดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นปกติจนไม่อาจรับการอบรมได้ (มาตรา 16)

ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณีร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (มาตรา 17)

 

7 พฤติกรรมฆ่า ต้องโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุถึงพฤติกรรมการฆ่าที่ต้องรับโทษหนักด้วยการประหารชีวิต ไว้ดังนี้

1. การฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรง

2. ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำตามหน้าที่

3. การฆ่าโดยทรมานหรือทารุณโหดร้าย

4. การฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ได้ทำตามหน้าที่ หรือฆ่าบุคคลที่กำลังจะช่วยเหลือ หรือได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน

5. การฆ่าเพื่อเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์ หรือเพื่อปกปิดหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิด

6. การฆ่าเพื่อเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด 7 การฆ่าโดยไตร่ตรอง คิดทบทวน วางแผน ก่อนจะลงมือฆ่า เช่น จ้างวานฆ่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปูพรมจับ! สมคิด พุ่มพวง "แจ๊คเดอะริปเปอร์เมืองไทย"

ย้อนคดี "สมคิด พุ่มพวง" แจ็ค เดอะริปเปอร์เมืองไทย

ทำผิดคดีไหน? อาจถึงโทษประหารชีวิต

ออกหมายจับ! "สมคิด" พลเมืองดีแจ้งเบาะแสโผล่เมืองอุดรธานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง