อู่ข้าวอู่น้ำ คำไทยโบราณ สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินของไทย ที่มีข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่ดั้งเดิม
ในอดีต ไทยมีข้าวมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบัน เหลือพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่ทั่วประเทศนับได้เพียงหลักร้อยสายพันธุ์เท่านั้น แต่พันธุ์ข้าวที่ได้รับการส่งเสริมทางการตลาดจริง ๆ อาจมีน้อยกว่านั้น
จากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือ ข้าวสายพันธุ์เดียว ที่ไม่เพียงทำให้ผู้บริโภค ขาดโอกาสในการรับประทานข้าวที่มีประโยชน์ แตกต่าง หลากหลายทาง ลดทอนเสน่ห์ของข้าวไทย เมื่อความหลากหลายทางระบบนิเวศน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรม จากการเลือกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช คุณภาพชีวิตชาวนาตกต่ำ มีหนี้สิน ผลผลิตยังไม่ตอบโจทย์ตลาดการค้าโลกในปัจจุบัน ส่งผลต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ประเทศ และระดับโลก
ผลวิจัยของ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบว่า สถานการณ์การทำนาหลังการยกเลิกนโยบายจำนำข้าว เกษตรกร มีต้นทุนการทำนาสูงขึ้นร้อยละ 48.2 เป็นหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 และในจำนวนนี้ ร้อยละ 89.5 เป็นหนี้ในระบบ ไม่สามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงได้เพียงพอ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตของชาวนาไทย แม้ว่าภาครัฐ จะมีนโยบายสนับสนุนทางการเงิน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองชาติ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงทางเลือก ทางรอด และโอกาสของชาวนาไทย ที่ยังมีความหวัง หากมีความกล้าหาญในทางนโยบายที่จะเลือกว่าประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหนของตลาดการค้าข้าวของโลก
หากยังคงวิถีการผลิตแบบเดิม สถานการณ์ข้าวไทยในตลาดโลกเป็นอย่างไร
ทิศทางอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต มีสัญญาณไปสู่การล่มสลาย ล้มละลายแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานจะเห็นว่า ทำนาก็มีแต่หนี้ กับ ความจนไปเรื่อย ๆ เพราะเราขายข้าวได้ประมาณ 7,500 บาท ในข้าวความชื้น 15% แต่หากความชื้อต่ำกว่านั้น ราคาก็จะต่ำลงไปอีก ส่วนต้นทุนในการผลิตข้าวต่อตัน อยู่ที่ประมาณ 7,200 - 7,300 บาท ถ้าไม่ปรับไปสู่โครงสร้างการผลิตที่ดีกว่านี้ เราก็จะขายข้าวแข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้ แข่งขันกับเวียดนามไม่ได้ แข่งขันกับเมียนมาไม่ได้
ตอนนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดยังสู้เวียดนามไม่ได้ เพราะเวียดนามส่งข้าวพื้นนุ่ม (ข้าวที่มีความนุ่ม คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ) ไปตีตลาด ในปีที่ผ่านมา เราส่งข้าวพื้นนุ่มไปตีตลาดจีน ประมาณ 300,000 ตัน เวียดนามส่ง 600,000 ตัน หมายถึงว่า เวียดนามในอดีต ส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้นิดเดียว เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่งออกข้าวได้ 80,000 ตัน แต่ปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกได้ 2.2 ล้านตัน ชนะประเทศไทย
ขณะที่ของเรา ข้าวหอมมะลิ รวมกับ ข้าวหอมปทุม ยังได้แค่ 2.01 ล้านตัน หมายถึงว่า พื้นที่ในชลประทานของเขา มีการปรับโครงสร้างไปสู่ข้าวคุณภาพมากขึ้นแล้ว อย่างที่เราเคยบอกว่าเวียดนามเป็นข้าวคุณภาพต่ำ แข่งไม่ได้หรอก แต่วันนี้เห็นภาพชัด ๆ แล้วว่าเขาได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะ และมันอันตรายมากสำหรับเรา
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดข้าวประเทศเพื่อนบ้าน ดูมีอนาคตกว่าไทย?
ผมจะยกตัวอย่างที่เวียดนาม ในเขตชลประทานของเขา เขาปรับเป็นข้าวพื้นนุ่ม ปลูกในพื้นที่ชลประทานได้ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเขาขายส่งออก จะได้ประมาณ 600 เหรียญ ทอนกลับมาเป็นข้าวเปลือกได้ 12,000 บาท ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ 5,000 บาท เท่ากับว่าเหลือเงินประมาณ 7,000 บาท
ส่วนชาวนาไทย หากปลูกในพื้นที่ชลประทาน ขายข้าวขาวได้ 420 เหรียญ ทอนเป็นข้าวเปลือกอยู่ประมาณ 8,000 บาท แต่ต้นทุนขึ้นมาตั้ง 7,000 เหลือจริง ๆ ประมาณ 500 บาท เพราะฉะนั้น ในพื้นที่เท่ากัน ถามว่าชาวนาประเทศไหนจะรวยกว่ากัน ก็จะตอบว่าชาวนาเวียดนาม เพราะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ส่วนจีน มีการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เขาบอกว่า เขาจะไม่ผลิตแค่พืชเชิงเดี่ยว แต่จะผลิต ECO Rice หรือ ระบบฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ ปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกผักอะไรต่าง ๆ รวมอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น ที่เท่าเดิม แต่จะสร้างรายได้ดีกว่า แล้วก็ขายในเรื่องของ ECO Rice คือ คุณภาพดีกว่า gap แต่ต่ำกว่าอินทรีย์ อาจจะไม่อินทรีย์ทั้งหมด แต่ลดเคมีลง และทำแบรนด์ชุมชน ว่าข้าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้ได้ทั้งคุณค่า และมูลค่า
ชาวนาไทยควรจะทำอย่างไรให้อยู่รอด?
มุมมองผม ชาวนาไทยจะอยู่รอดได้ ต้องปรับตัวเองสู่การทำข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น เพราะข้าวพื้นนุ่มมีตลาด วันนี้ผู้บริโภคหันมากินข้าวพื้นนุ่มมากกว่าข้าวพื้นแข็ง ฉะนั้น ข้าวพื้นแข็งถ้าทำไปตลาดก็จะลดลง แล้วไทยจะแข่งขันไม่ได้ ปีนี้เองการส่งออกข้าวพื้นแข็งของไทยลดลง 35% แล้ว
ในพื้นที่อีสานผมคิดว่ามีเสน่ห์อยู่ คือ ปลูกทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ซึ่งราคายังดีอยู่ ข้าวเหนียวยังถือว่ากินในประเทศ 80% และเป็นข้าวเหนียวพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็น เขี้ยวงู สันป่าตอง เพราะฉะนั้นใ นการที่พี่น้องจะอยู่ได้จะต้องมีการหาความเฉพาะในพื้นที่ในเกิดขึ้น
ข้าวเหนียวเขาวง คือ ข้าวเหนียว กข.6 ที่ไปปลูกในกาฬสินธุ์ และมีความเฉพาะให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทางรอดของเกษตรกรไทยที่ทำนา คือ อาจจะต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น และหาความเฉพาะให้เกิดขึ้นให้ได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้าว 7 สี ที่สิงคโปร์มีเรื่องนี้แล้ว เอาข้าวกล้อง ข้าว 7 สี ไปประกวด และเขาพยายามโปรโมท เพราะในอนาคตคนจะหันมากินข้าวโภชนาการมากขึ้น หันมากินข้าวกล้องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไรซ์เบอร์รี่ หรือ ข้าวหอมมะลิดำ หอมมะลิแดง ซึ่งถ้าดูจากตลาดแล้วจะเห็นว่าตลาดกำลังจะเปลี่ยน คนกินข้าวกำลังจะเปลี่ยนไปสู่การกินเพื่อโภชนาการ
วันนี้ ไม่ใช่จะผลิตอะไรแล้วจะขายได้ แต่จะต้องดูจากตลาดผู้บริโภคกลับมา เพราะฉะนั้นถ้าเรารวมกันเป็นชุมชนและหาความเฉพาะของชุมชนผลิตขึ้นมา เช่น ข้าวสังข์หยด วันนี้ก็ขายได้หมด สิงคโปร์ซื้อหมดเหมือนกัน เพื่อไปทำเมนูเฉพาะของตัวเองขึ้นมา หรือ ข้าวทับทิมชุมแพก็มีเสน่ห์ในตัวเอง ซึ่งทำให้มีมูลค่าต่อหน่วยที่สูงขึ้น
ผมคิดว่าเกวียนนึงขายได้ 15,000-20,000 บาท และถ้าทำเป็นชุมชนเข้ามา มีเทคโนโลยีชาวนาจะไปรอด แต่ถ้าอยู่บนฐานแนวคิดเดิม ทำนโยบายบนฐานแนวคิดเดิมโดยไม่ได้ดูแนวคิดตลาดใหม่ ผมกล้ายืนยันได้เลยว่า อีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นทิศทางของการล่มสลายที่เกิดขึ้น
แสดงว่าคุณลักษณะเฉพาะของข้าวก็สำคัญเช่นกัน?
ผมคิดว่าการปลูกข้าวขึ้นอยู่กับภูมินิเวศ เป็นตัวกำหนดพันธุ์ข้าวที่สำคัญ การผลิตข้าวที่จะอยู่บนฐานความคิดเดิมในรูปแบบการผลิตแบบเดิม ๆ มันไปไม่รอด ไม่คุ้มทุนหรอก เราต้องปรับฐานคิดใหม่ คือ ไปอยู่บนฐานคือการรวมกลุ่มที่ขึ้นอยู่กับภูมินิเวศ และใช้ความเฉพาะของพื้นที่ ไม่ว่าจะเอาหอมมะลิแดง หอมสุพรรณ หอมนครชัยศรี มีกลิ่นของความใหม่อยู่แบบเฉพาะ ชุมชนต้องรวมกลุ่มกันให้ได้และสร้างความเฉพาะในพื้นที่
รวมถึงการสร้างพื้นที่ตลาดออนไลน์ พัฒนาเข้ามาเป็นจุดขายของชุมชน และเอาเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา และปลูกแบบอินทรีย์ จะช่วยให้หอมมะลิมีความหอมกว่าธรรมดา ซึ่งในอนาคตตลาดการซื้อข้าวถ้าดูเรื่องข้าวหอม ข้าวนุ่มเนี่ย เราจะอยู่รอด ถ้าเราจะปลูกข้าว กข. ธรรมดา เราไปไม่รอดนะ เพราะถ้ารัฐไม่สนับสนุน หรือ ลดการสนับสนุนก็จะล้มครืน เพราะทุกวันนี้ชาวนาเป็นหนี้เยอะ ค่ายา ค่าปุ๋ย แต่ถ้าทำข้าวพันธุ์อินทรีย์แล้ว จะช่วยผ่อนปรนเรื่องหนี้ให้ลดลง และมีความมั่นคงยืนอยู่ได้ และสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้
นโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ไม่สอดรับกับสถานการณ์ข้าวไทย?
ผมคิดว่าการประกันรายได้ที่รัฐบาลทำอยู่ ทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็กระตุ้นได้ไม่มากหรอก เพราะชาวนาเป็นหนี้เยอะมาก พอได้เงินชดเชยก้อนนี้มา ก็ต้องจ่ายหนี้ไป ไม่มีเงินอยู่ในมือให้ไปจับจ่ายอะไรในชีวิตประจำวัน
นโยบายของรัฐที่สนับสนุนในเชิงของรายได้ ก็ไม่ได้มีส่วนของการปรับโครงสร้าง เพราะฉะนั้นจะเป็นการซ้ำเติมในระยะยาวให้กับเกษตรกร เพราะแทนที่จะมีการบอกว่าจะสนับสนุนการปลูกข้าวพื้นนุ่มให้มากขึ้น ไม่มีกลไกอื่น ๆ เลยที่จะมา ถ้าดูในส่วนของนโยบายรัฐในอนาคต รัฐจะมีเงินจ่ายแบบนี้ไปได้อีกกี่ปี แล้วชาวนาจะอยู่ได้อย่างไร
แล้วนโยบายส่งเสริมแบบไหน ที่จะช่วยตลาดข้าวไทย?
การออกนโยบายของรัฐต้องมีลูกเล่นที่ออกมา ทำอย่างไรที่จะสร้างความเฉพาะให้เกิดขึ้นกับการปลูกข้าวในแต่ละพื้นที่ เช่น การใช้เรื่องของธรรมชาติเข้ามา อินทรีย์ กึ่งอินทรีย์ ทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ไม่ใช่ปลูกข้าวอย่างเดียวแต่ เลี้ยงปลา สร้างความหลากหลายในนามากขึ้น
ทุกวันนี้ ที่ชาวนามีความเสี่ยงสูง เพราะว่าอยู่กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น จะต้องมีการปรับตัว ถ้าเรามีทุ่งกุลาในภาคอีสาน ต้องทำให้มีทั้งความหอมและความนุ่ม ควรจะต้องดูเรื่องของการผลิต
ในพื้นที่ชลประทานเอง ผมคิดว่าจะต้องปรับจากข้าว กข.ทั่ว ๆ ไป มาเป็นข้าวพื้นนุ่มให้ได้ ซึ่งวันนี้งานวิจัยของประเทศไทย พบว่าในเรื่องของข้าวนุ่มเราล้าหลังช้ากว่าเวียดนามมาก
พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส