ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นาแปลงเล็ก ในเมืองใหญ่

ไลฟ์สไตล์
23 ธ.ค. 62
13:35
1,451
Logo Thai PBS
นาแปลงเล็ก ในเมืองใหญ่
มีพื้นที่ พันธุ์ข้าว และใจที่อยากปลูก แม้แต่บนดาดฟ้า หลังคาบ้าน หรือ ลานเล็ก ๆ หลังบ้าน ก็ทำนาได้แล้ว "พิชญาพร โพธิ์สง่า" ชวนอ่านเรื่องราวชาวนาเฉพาะกิจ ที่ทำนาแบบมีลักษณะเฉพาะ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อข้าว และมิติใหม่ของการทำนา

ใครว่าคนปลูกข้าวมีแต่ ชาวนา เท่านั้น อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมอง เพราะแค่มีพื้นที่ พันธุ์ข้าว และใจที่อยากปลูก แม้แต่บนดาดฟ้า หลังคาบ้าน หรือ ลานเล็ก ๆ หลังบ้าน ก็สามารถทำนาได้แล้ว

เริ่มกันที่นาขั้นบันไดขนาด 1 ไร่ บนดาดฟ้าของ อาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่สามารถผลิตข้าวได้มากกว่า 800 กิโลกรัม

ภาพ : สวนป๋วย PUEY Park for the People

ภาพ : สวนป๋วย PUEY Park for the People

ภาพ : สวนป๋วย PUEY Park for the People


"หอมธรรมศาสตร์"
 คือ ข้าวสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นข้าวนาปีที่ปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ เพียง 90 - 110 วัน ก็ได้รับประทาน แถมยังการันตีด้วยว่าปลอดภัย 100 % เพราะไม่มีการใช้สารเคมีในการผลิต เป็นออร์แกนิคแท้ ๆ และยังรักษ์โลก เพราะน้ำที่ใช้เป็นน้ำฝนล้วน ๆ ด้วยลักษณะเฉพาะพื้นที่ ทำให้น้ำไหลถึงกันในทุกแปลง และยังลดการใช้พลังงานจากการผลิตน้ำประปาอีกด้วย


ในกิจกรรม "มาเกี่ยวข้าวกัน" ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต พร้อมคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า ได้ร่วมเกี่ยวข้าว เพื่อนำข้าวที่ได้ไปขยายพันธุ์ต่อ ก่อนจะนำกลับมาปลูกอีกครั้ง ทั้งที่นี่ และมอบให้กับชาวนาที่ยังต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว

ผลผลิตที่ได้ จะถูกใช้เลี้ยงต้อนรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษาหน้า ทำให้ที่นี่เป็นทั้งแหล่งผลิตอาหาร แหล่งเรียนรู้ และยังเป็นที่พึ่งของชาวนาชาวไร่อีกด้วย

เอกชัย ราชแสง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องสายพันธุ์ข้าวบอกว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แบ่งพันธุ์ข้าวบางส่วนให้กับชาวนาด้วย ทำให้ทุกวันนี้ นอกจากที่นี่แล้ว หอมธรรมศาสตร์ ยังกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ผศ.ดร.ปริญญา บอกว่า อยากให้คนมาที่นี่ได้เรียนรู้วิถีชาวนา ว่ากว่าจะได้ข้าวมา ชาวนาต้องทำอะไรบ้าง และที่สำคัญ คือ การหันกลับมาพึ่งพาตัวเอง และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แม้สินค้าอินทรีย์จะมีราคาสูง แต่หากป่วยขึ้นมา ค่ารักษาแพงกว่าอีก จึงอยากให้ที่นี่ ส่งเสริมเกษตรกรรมสุขภาพ เป็นโอกาสของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

 

นานิเวศสุนทรีย์ ที่มากกว่าการปลูกข้าวกิน - ขาย

อีกฟากหนึ่งของปริมณฑลกรุงเทพฯ ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีผืนนาสีเขียวสะดุดตาไม่เหมือนใคร เพราะเป็นรูปทรงกลมขนาด 50 ตารางเมตร


ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร
ศิลปินร่วมสมัย เจ้าของนาแห่งนี้เรียกว่า "นานิเวศสุนทรีย์" แปลงนาข้าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อชวนให้หวนรำลึกถึงวิถีชีวิตของชาวนาในแปลงนายุคดั้งเดิม ที่เขามองว่ามีความสวยงาม และสร้างความสุนทรีย์ ซึ่งหาได้ยากในแปลงนายุคปัจจุบัน

เมื่อก่อนตอนที่ผมเด็ก ๆ มีโอกาสได้ไปเที่ยวแปลงนาบ้านเพื่อน แล้วรู้สึกว่ามันสวยงาม สุนทรีย์ มีข้าวเขียว มีกองฟาง แต่ปัจจุบันไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะบริบททางสังคมเปลี่ยนไป บางทีนาข้าวอยู่ข้างโรงงาน ซึ่งมองไปแล้วมันก็ไม่สวย ในงานวิจัยปริญญาเอก ผมจึงสร้างนาผืนหนึ่งขึ้นมา โดยออกแบบให้มันเป็นรูปวงกลม มีบ่อน้ำตรงกลาง มีกองฟาง มีโรงนา แล้วก็ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี


ดร.วิจิตร ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ทำให้แปลงนาของเขามีพันธุ์พืชและสัตว์ต่าง ๆ กลับมา น้ำใส มีปู ปลา หอย หรือ สัตว์บางชนิดที่ชาวบ้านแถวนั้นยังบอกว่าไม่เห็นมานานแล้ว ทำให้รู้สึกว่า มันไม่สายเกินไปที่จะทำให้นารูปแบบเดิมนั้นกลับมา

ในระหว่างที่ทำก็ได้ชวนชาวนาที่อยู่ใกล้เคียงมาเจอกัน หรือ บางคนเขาก็สนใจเข้ามาดูเอง กลายเป็นสาธารณะศิลป์ หรือ งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ และยังทำให้เกิดสุนทรียสัมพันธ์ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ผู้คนมาพบปะกัน ซึ่งในทฤษฎีเรียกว่า Dialogue Aesthetic หรือ สุนทรียสนทนา


เขายังบอกอีกว่า ในผลสรุปการวิจัย ทำให้ได้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ในการทำนา ว่าสามารถพัฒนาให้พื้นที่นาที่สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะสมัยนี้ คนนิยมเที่ยวทุ่งนา หรือ ทำร้านกาแฟสมัยใหม่ที่มีนาด้วย ในส่วนของข้าวที่ผลิตได้ ยังสามารถนำมาทำแบรนด์ยี่ห้อใหม่ อย่างที่เคยเห็นข้าวธรรมชาติ ข้าวคุณธรรม ที่บอกว่าชาวนามีคุณธรรมเป็นคนปลูก ของเราก็ข้าวที่ปลูกด้วยความสุนทรีย์ก็ได้ ไม่ได้อ้างอิงแค่เรื่องการปลอดสารพิษหรือมีคุณธรรม แต่เป็นข้าวที่เกิดจากแนวคิดด้านศิลปะ

ผมมองว่าเป็นนวัตกรรม นิเวศสุนทรีย์ ที่ทุกบ้านเองก็ต้องการระบบนิเวศสุนทรีย์ มีสิ่งแวดล้อม มีอาหารที่มีคุณภาพ มีความสดใหม่ มีวิถีชีวิต วิถีไทย และมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งหากบ้านไหนปลูกข้าวเอง ก็จะได้กินข้าว และลูกหลานมีพื้นที่เล่น ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน สุขภาพก็ดีด้วย

 


แม้วันนี้กระบวนการวิจัยจะจบลงแล้ว แต่รูปแบบของนาวงกลมถูกริเริ่มใหม่ในที่โล่งข้างสตูดิโอวิจิตร ใน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ลาดด้วยปูน ปูด้วยดิน และใส่น้ำขังไว้เตรียมปลูกข้าว แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ แต่ ดร.วิจิตร บอกว่า ข้าวที่เกี่ยวได้ครั้งหนึ่ง น่าจะกินไปได้ถึง 3 เดือน ซึ่งเท่ากับ 1 ฤดูกาลปลูก พูดอีกอย่าง คือ ไม่ได้ซื้อข้าวที่อื่นกินแล้วก็ได้

ในสตูดิโอของศิลปินนักปลูกข้าวคนนี้ ยังคงรักษาวิถีชีวิตวิถีไทยแบบดั้งเดิม สะท้อนผ่านตู้เก็บจานไม้ เตาถ่าน ชานเรือนที่เป็นไม้ และบ้านมีใต้ถุน ที่ ดร.วิจิตร บอกว่า สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ชีวิตของเขามีเวลามากขึ้นกว่าเดิม และมีความสุนทรีย์ในชีวิตมากกว่าตอนที่อยู่ในเขตเมือง

 

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง