ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อ มองอนาคตโทรทัศน์ไทย 2020

เศรษฐกิจ
24 ธ.ค. 62
12:13
1,811
Logo Thai PBS
นักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อ มองอนาคตโทรทัศน์ไทย 2020
นักวิชาการ - นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ร่วมมองอนาคตโทรทัศน์ไทย 2020 เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์และวางแนวทางพัฒนาสื่อสารมวลชน "ประชาชน" เสนอ อยากเห็นรายการเจาะลึก กลั่นกรองก่อนนำเสนอ และต้องการสื่อที่มีจริยธรรม - จรรยาบรรณ

วันที่ 19 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ จากโครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางการพัฒนารูปแบบและเนื้อหารายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลในประเทศไทยหลังการเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการร่วมมองอนาคตโทรทัศน์ไทยในปี 2020 เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์และวางแนวทางพัฒนาสื่อสารมวลชนไทยในปีหน้า

ผศ.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า โทรทัศน์ไทยในปีหน้า น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อวงการสื่อสารมวลชนของไทย หลังจากปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงต่อวงการสื่อสารมวลชนต่อเนื่อง หลังจากมีการประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งไม่เป็นไปในทิศทางที่ดีตามคาด ว่าจะทำให้สื่อก้าวหน้า แต่กลับได้รับผลกระทบ ทำให้หลายสื่อหลายสำนักขอคืนช่องประมูล

โดยปัจจัยหลักที่กระทบกับวงการสื่อ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามการกำหนดของสื่อ แต่เป็นการกำหนดของตัวเอง เช่น ช่วงเวลาที่คนรับชมโทรทัศน์ไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้อันดับความนิยม (Rating) ถดถอย สื่อออนไลน์แย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แนวคิดกลยุทธ์แบบเดิมไม่สามารถใช้ได้ หลายช่องพยายามสร้างจุดขายอื่น ๆ เช่น สร้างพื้นที่ใหม่ในออนไลน์ สร้างโอกาสทางรายได้ ใช้เวลาไปกับ home shopping เป็นธุรกิจเสริม แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่กับภารกิจของสื่อสารมวลชน ที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่สื่อหลายสำนักพยายามค้นหาตัวตนใหม่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง

ผศ.อัจฉรา ยังได้ระบุถึงโอกาสในการพัฒนาสื่อสารมวลชนให้ทันสมัย จากการศึกษา Digital Trend 2020 ดังนี้

  1. Data Driven / Big data การใช้ข้อมูลสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับรู้ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนแต่ละกลุ่มและสร้างกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ (Personalization)
  2. Curator of content รวบรวมเนื้อหาที่ดีไว้ในช่องทางการสื่อสารออนไลน์ และสร้างทิศทางการนำเสนอที่ชัดเจนขององค์กร เช่น การเป็นช่องสำหรับการสื่อสารเรื่องพลังพลเมือง
  3. Media and Journalism Integrity and Quality เชื่อถือได้ มีจรรยาบรรณ ไม่ได้เอาใจตลาดจนขาดอุดมการณ์ จึงต้องยึดมั่นในศรัทธาวิชาชีพสื่อ เป็นตะเกียงส่องทางสว่างแก่สังคม เพราะผู้บริโภคยังคงต้องการสื่อที่มีคุณภาพ แต่สามารถสร้างการตลาดที่หลากหลายได้ เช่น แนวทางธุรกิจและแนวทางประโยชน์สาธารณะ
แม้  Digital Platform จะเติบโตต่อไป แต่  Digital Marketing ยังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ดี สร้างผลกระทบที่ดีต่อภาคธุรกิจ มากกว่าการมีส่วนร่วมเชิงกระแสออนไลน์ อนาคตโทรทัศน์ ปี 2020 จะทำให้สื่อที่ฉลาดดำรงอยู่ในวิชาชีพสื่อ ทำให้อยู่รอดได้ในอนาคต

 


นายเชิดชาย มากบำรุง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า ไทยพีบีเอส มุ่งสร้าง inform citizen สื่อสารข้อมูลเชิงลึกและนำเสนอผ่านช่องทางทั้ง On Air Online และ On Ground และครอบคลุมประเด็นรอบด้าน เช่น ประเด็นเรื่องสารเคมี มีการนำเสนอถึงต้นทางการนำเข้าสารเคมี ออกแบบการนำเสนอด้วยอินโฟกราฟิก เสนอตัวอย่างของเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมอย่างปลอดภัย และสร้างแอปพลิเคชันนำเสนอพื้นที่ตลาดอินทรีย์ เพื่อสนับสนุนสินค้าปลอดภัยที่ปลายทาง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างเร็วมาก คนทำอาชีพนี้ จึงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้เนื้อหาข้อมูลที่รองรับการนำเสนอได้ในทุกแพลตฟอร์ม

ด้าน นายเนติพิกัติ ตังคไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และการออกแบบ ไทยรัฐทีวี บอกว่า ที่ผ่านมา ไทยรัฐทีวี พยายามสร้างทีมเวิร์ก วางทิศทางการทำงาน เพื่อสร้างเทคโนโลยี Virtual เพื่อทำการนำเสนอให้น่าสนใจ สร้างเรตติ้ง โดยวิเคราะห์ว่าแต่ละช่วงเวลา ความน่าสนใจอยู่ตรงไหน ก็นำมาเป็นไอเดียของการทำ Virtual และหาจุดแตกต่างสอดแทรกความสร้างสรรค์อรรถรสในการนำเสนอ เพื่อสร้าง Masterpiece ด้วยการออกแบบร่วมกับเนื้อหาการนำเสนอ เช่น ออกแบบ Virtual ที่ทำให้ผู้ประกาศข่าวลงไปอยู่ที่บริเวณเนินนมสาว ในช่วงถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน การเล่าเรื่องประกอบการรายงานข่าวเรื่องต่าง ๆ

นายจิรโรจน์ จิตราพัฒนานันท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว ช่อง 7 HD บอกว่า การนำเสนอข่าว ทีมงานต้องหาข้อมูลรอบด้าน และมีการขยี้ข่าว ในเชิงให้ข้อมูลความรู้ แต่ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัวในการรายงานข่าว สำหรับเนื้อหาที่มาจากสื่อออนไลน์ จำเป็นต้องผ่านการเช็กข้อมูลก่อนทุกครั้ง ไม่ใช่หยิบข้อมูลแล้วมาเล่า เพราะไม่ต่างจากการดูในมือถือตัวเอง และจะทำให้ทีวีหมดความสำคัญ ทั้งยังมีการกำกับดูแลที่เข้มข้น มีคณะกรรมการตรวจทุกวัน และมีการรายงานหากมีการพูดผิด ข้อมูลผิด ทำให้การดราม่าในการนำเสนอน้อยลง

นอกจากเสนอสิ่งที่คนอยากรู้ จะต้องนำเสนอสิ่งที่คนควรรู้ด้วย แต่สิ่งที่เราทำ คือ สร้างสรรค์ออกมาให้น่าสนใจ เพื่อทำให้สื่อโทรทัศน์ ต่างจากสื่อโซเชียล

น.ส.ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ผู้เขียนบทและผู้อำนวยการผลิตละคร "กาหลมหรทึก" บอกว่า ละครเรื่องนี้ออกอากาศที่ช่อง One ด้วยความตั้งใจสร้างกระบวนการผลิตระดับโลก เพื่อสร้างคุณภาพการผลิตและได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และสร้างภาพจำที่ดีต่อผู้ชม

น.ส.ศิริลักษณ์ ระบุอีกว่า ช่อง one มีคอนเซ็ปท์การนำเสนอ ว่าให้ถูกลุ่มเป้าหมาย (Target) ถูกที่ ถูกเวลา โดยวิเคราะห์ว่าใครเป็นคนดู มีความต้องการรับชมอะไร แบบไหน เพื่อสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ เช่น เรื่องเมีย 2017 สะท้อนบริบทของความสัมพันธ์ในยุคสมัยใหม่ มุมมองผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง สู้ต่อการกดขี่ ทำให้ได้รับความนิยมของผู้ชมมาก และเมื่อนำเสนอบางช่วงบางตอนในออนไลน์ ก็กลายเป็นไวรัลขึ้นมา มีการพูดต่อ ๆ กัน และได้รับเรตติ้งทั้ง On Air และ Online


ด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน อธิบายถึง นวัตกรรมและระบบนิเวศโทรทัศน์ 2020 บอกว่า ปีหน้าดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ 8K นำร่องโดยช่อง NHK ซึ่งมีความคมชัด 16 เท่าของ HD ซึ่งต้องอาศัยคลื่นความถี่ 5G Broadcast ซึ่งปัจจุบันทดลองใช้แล้วในประเทศเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และเป็นอนาคตของสื่อสารมวลชนไทย


สำหรับ โครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางการพัฒนารูปแบบและเนื้อหารายการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิทัลในประเทศไทยหลังการเปลี่ยนผ่าน มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 9,000 คน ทั่วประเทศ โดยพบว่า ผลกระทบส่วนแรก คือ รายได้ของโทรทัศน์ถดถอย และโฆษณาล้นจอ ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย และ Creative industry ไม่ตรงกับความตั้งใจ ส่วนข้อเสนอของประชาชน คือ ต้องการรายการเจาะลึกไม่ฉาบฉวย มีการกลั่นกรองผลกระทบก่อนนำเสนอ ธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ส่งเสริมรายการเด็กและคนพิการ และเป็นทีวีเพื่อประชาชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง